เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงรายพร้อมคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้นำชาวบ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจจำนวน 6 คนที่ประสบ #ปัญหาสถานะบุคคล เข้าประชุมหารือกับว่าที่ร้อยโทพงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง และนายเชาวลิต กิตติชัยพานิช ปลัดสำนักทะเบียน เพื่อขอให้แก้ไขรายการสถานที่เกิดและการพัฒนาสถานะทางกฎหมาย เนื่องจากมีการบันทึกเอกสารขัดกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อเท็จจริงและร่วมกันพิจารณาเอกสารหลักฐาน โดยนายอำเภอและปลัดอำเภอได้ตรวจสอบเอกสารและสอบถามชาวบ้านถึงที่มาของเอกสารที่พบปัญหา โดยชาวบ้านได้ช่วยกันชี้แจงข้อเท็จจริงและยืนยันว่าเกิดในประเทศไทย
ชาวบ้านรายหนึ่ง อายุ 43 ปี ชี้แจงว่า ตนเกิด พ.ศ. 2522 มีเอกสารทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้าน ซึ่งเป็นเอกสารสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา พ.ศ.2528-2530 จัดทำโดยกรมประชาสงเคราะห์ ระบุว่าเกิดไทย แต่เอกสารแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จัดทำโดยสำนักทะเบียนอำเภอ พ.ศ.2534 ระบุว่าเกิดพม่า จึงทำให้ตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการเป็นประชาชนไทยได้
ชาวบ้านอีกรายหนึ่ง อายุ 32 ปี ชี้แจงว่าตนเกิดปี 2533 มีเอกสารแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จัดทำโดยสำนักทะเบียนอำเภอ พ.ศ. 2534 แต่บันทึกผิดว่าเกิดพม่า ทั้งๆ ที่ตนเองเกิดในประเทศไทย
ทั้งนี้มูลนิธิพชภ. ได้ยืนยันการเกิดของชาวบ้านทั้ง 6 คนเพราะรู้เห็นการเกิดของชาวบ้านเนื่องจากมูลนิธิฯ ได้ทำกิจกรรมอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่ยุคนั้น และมารดาก็เป็นนักเรียนภาคค่ำของศูนย์การศึกษาของมูลนิธิฯ ในช่วงนั้น
ขณะที่นายอำเภอกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่นับหนึ่งในกระบวนการเตรียมยื่นคำร้อง ต่อไปจะกำหนดยื่นคำร้อง นัดสอบปากคำพยาน รวบรวมเอกสาร และแก้ไขทะเบียนประวัติ และภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จะดำเนินการให้เรียบร้อยตามข้อเท็จจริง
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพชภ. ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้มีความปลาบปลื้มชื่นชมนายอำเภอแม่ฟ้าหลวง ที่รับคำร้องของประชาชน 6 ราย ซึ่งถูกบันทึกรายการสถานที่เกิดผิด จากเกิดไทย เป็นเกิดพม่าทำให้เสียโอกาสในการรับรองสัญชาติไทย อันนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ความเป็นพลเมืองไทย
“วันนี้ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายทะเบียน ได้รับมอบจากนายอำเภอให้ค้นหาพยานเอกสารของทั้ง 6 รายนี้ ยืนยันว่าสามารถแก้ไขรายการสถานที่เกิดให้ตรงกับความจริงได้ ควรสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และนายอำเภอยินดีสนับสนุนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ได้รับสิทธิโดยเร็วที่สุด ท่านนายอำเภอจะปรับระบบการทำงานด้านสัญชาติของอำเภอแม่ฟ้าหลวง ให้เป็นระบบที่ใช้หลักกฏหมายใช้หลักมนุษยธรรมและความสุจริตใจโปร่งใส เป็นที่ตั้ง เป็นแบบอย่างของนายอำเภอที่มีทัศนคติที่ดีในการช่วยประชาชน ให้ได้เข้าถึงสิทธิ์ในสัญชาติ ซึ่งกำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” นางเตือนใจ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมการปกครองได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดภายหลังจากที่มูลนิธิ พชภ.ทำหนังสือถึงจังหวัดเชียงรายเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขสถานที่เกิด โดยระบุว่า ประเด็นการแก้ไขรายการสถานที่เกิดในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง โดยแก้ไขสถานที่เกิดจาก “เกิดนอกประเทศ” เป็นเกิดในประเทศ โดยการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของผู้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ทร.14) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูง พศ.2543 ข้อ 11 วรรคสี่ ให้สันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ออกโดยส่วนราชการ หรือพยานแวดล้อม โดยข้อ 12 กำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถอ้างเอกสารการจดทะเบียนราษฎรชาวเขา (ท.ร.ช.ข.) หรือเอกสารสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาระหว่างปี พศ.2528-2531 (ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน) ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์และหน่วยงานในสังกัดให้การรับรองเพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของตนได้