เสียงปรบมือจากกลุ่มเยาวชนดังลั่นห้องประชุมมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) บนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ภายหลังจากได้ฟังเรื่องราวของจิตอาสา
จิตหาอาสาคนหนึ่งเป็นชาวลาหู่ เธอชื่อน.ส.ปวรรัตน์ แสนภู ชื่อภาษาลาหู่ คือ “นาคะมา” หรือที่ใครเรียกเธอว่า “นาข้าว”ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์ แต่เลือกที่จะทำงานอยู่บนดอยเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและเด็กๆ บนพื้นที่สูง ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่น ทั้งการรับราชการหรือเป็นทำงานบริษัทในเมือง
“ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็ทำงานให้สังคมได้ รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ยังมีเด็กๆ อีกมายมายที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาโอกาส เราพร้อมให้คำปรึกษา ว่าการมีโอกาสได้เรียนต่อควรทำอย่างไร ปรับตัวอย่างไรเมื่อไปอยู่ในเมือง” นาข้าว เป็นหญิงสาวจากหมู่บ้านจะบูสี อำเภอแม่ฟ้าหลวง ที่ทำงานอยู่ที่มูลนิธิ พชภ. ถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ ฟัง
ขณะที่นายกฤษณะ ภูมิกระจ่าง หรือบ๊อบบี้ นักศึกษาปี 4 คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เลือกที่จะใช้เวลาในปีสุดท้ายมาทำงานอยู่ในป่าดอยแทนที่จะอยู่ในเมืองที่มีความสะดวกสบายกว่า
“ตอนอยู่กทม.ผมไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ผมสนใจเรื่องคนไร้สัญชาติ จึงได้สมัครมาอยู่ที่ พชภ. เรามาอยู่แบบนี้ได้เจอเรื่องราวที่ไม่เคยเจอ ประสบการณ์เหล่านี้ในวันหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเราอาจได้นำไปใช้เพราะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เราได้ทำงานเพื่อส่วนรวมและมีความสุขที่ได้ทำ เรารู้ว่าต้องมาเจอความลำบาก แต่ก็เหมือนมาเข้าค่าย เราได้เรียนรู้ตัวเอง”
ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2563 เป็นเวลา 2 วัน 1 คืนที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย จำนวน 58 คน ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์บนดอยแม่สลอง โดยมีมูลนิธิพชภ.เป็นพี่เลี้ยง
นักศึกษากลุ่มนี้ได้เรียนรู้ใน 4 ฐานคือ 1.วิถีวัฒนธรรมในหมู่บ้านป่าคาสุขใจซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าโดยเรียนรู้ผ่านประเพณีการต้มไข่สีแดงที่เป็นอาหารมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่อาข่า 2.วิถีวัฒนธรรมในหมู่บ้านจะบูสี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่หรือมูเซอแดง โดยผ่านประเด็นการท่องเที่ยวชุมชน 3.วิถีเศรษฐกิจวัฒนธรรมหมู่บ้านพนาสวรรค์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ผสมทั้งอาข่าจีนฮ่อและลาหู่โดยผ่านกระบวนการผลิตกาแฟตั้งแต่ปลูกจนถึงส่งขาย 4.เรียนรู้ป่าชุมชนที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อ 25 ปีก่อนจนกลายเป็นป่าใหญ่และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนโดยรอบ
หลังจากนักศึกษาได้แยกย้ายกันลงพื้นที่ ได้มีการทำคลิปและนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนๆ กลุ่มอื่นได้รับทราบ แม้ระหว่างลงพื้นที่จะมีฝนตกปรอยแต่ทุกคนต่างสะท้อนถึงความสนุกสนานในการเรียนรู้
“ผมได้ไอเดียหลายอย่าง ที่บ้านผมก็ปลูกกาแฟ แต่ขายเมล็ดกาแฟสดๆ ซึ่งได้ราคาต่ำ พอมาเห็นกระบวนการผลิตกาแฟของบ้านพนาสวรรค์ ทำให้อยากกลับไปทำเช่นนี้ที่บ้านบ้าง” วัฒนา ท่อเสถียรธรรม ที่เพื่อนๆ เรียกว่า “กันต์” นักศึกษาปี 2 เล่าถึงแรงบันดาลใจหลังจากลงพื้นที่ดูการผลิตกาแฟยี่ห้อ “พนาสวรรค์คอฟฟี่”ของชาวบ้านพนาสวรรค์
ครอบครัวของกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีบ้านเดิมอยู่ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พ่อแม่ของเขามีอาชีพปลูกกาแฟขายเช่นเดียวกับคนในหมู่บ้าน แต่ด้วยรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ทำให้กันต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และเมืองจบ ม.3 เขาแทบไม่มีโอกาสได้ได้เรียนต่อ จนกระทั่งครูที่ปรึกษาได้แนะนำทุนของ กสศ.ซึ่งเปิดรับเป็นปีแรก ด้วยการที่เป็นเด็กเรียนดีได้เกรดเฉลี่ย 3.47 ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกได้รับทุนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาในคณะวิศวกรรมไฟฟ้า
“ผมเลือกเรียนไฟฟ้าเพราะที่บ้านตอนนี้ไม่มีไฟฟ้า“ เขากล่าวแบบติดตลกแต่นั่นเป็นข้อเท็จจริง “มันลำบากจริงๆ ครับ ผมอยากเรียนให้สูงๆ จนจปริญญาตรี แต่ไม่รู้ว่าพอจบ.ปวส.แล้วจะได้ทุนไปต่อหรือไม่”
กันต์ บอกว่า การที่ได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นอะไรใหม่ๆมากกว่าในห้องเรียน ได้ความรู้กว้างขวางขึ้นสามารถนำไปต่อยอดโครงการในมหาวิทยาลัยได้
ขณะที่เฟรน หรือ น.ส.สุธิดาพร มูลสวัสดิ์ นักศึกษาด้านเมคคาทรอนิกส์ กล่าวว่า เมื่อเรียนจบ ม.3 ก็ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อเพราะครอบครัวยากจน แม่ต้องเลี้ยงลูก 5 คนเพียงลำพัง เพราะพ่อทิ้งไปตั้งแต่เธออายุ 2 เดือน เธอจึงเป็นความหวังของครอบครัวที่จะออกมาช่วยทำงานหาเงิน แต่เมื่อมีอาจารย์มาแนะนำทุน กสศ.ให้จึงสนใจ แต่ก็ได้สอบถามไปว่าต้องชดใช้เหมือนทุนกยศ.หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่เอา แต่เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่ต้องชดใช้ แม่จึงตัดสินใจให้เธอรับทุนเรียนต่อ
“มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าคนบนดอยอาจจะลำบากกว่าคนเมือง แต่เขาอยู่อย่างพอเพียงและมีความสุข เขามีวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาก หนูเองก็อยากเป็นจิตอาสา เพราะเป็นคนชอบธรรมชาติ อยากเป็นครูบนดอย สอนเด็กๆ เพราะเห็นในหลายพื้นที่ที่ห่างไกลที่ไม่มีครู”
เช่นเดียวกับเนม-น.ส.เยาวลักษณ์ ธัญยวนิชพงษ์ นักศึกษาปี 2 ซึ่งเป็นชาติพันธุ์อาข่า จากดอยวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย บอกว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้สนุกกว่าในห้องเรียน ที่สำคัญคือได้ปฎิบัติการจริง
“จริงๆ แล้วหนูอยากเป็นครู แต่เป็นคนที่ต้นทุนต่ำ ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ชอบได้ จึงเลือกเรียนช่างไฟฟ้าเพราะเชื่อว่าจบมาแล้วจะมีงานทำและมีรายได้ดี”
เนมบอกว่าเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มักรู้สึกอายในการแสดงออกต่อสาธารณะเพราะพูดภาษษไทยกลางได้ไม่ชัดและมักถูกล้อ แต่สำหรับเธอแล้วไม่รู้สึกอายและพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมบนดอย ทำให้ยิ่งเกิดความมั่นใจเพราะได้เรียนรู้เก็บข้อมูลในวิถีของหมู่บ้านต่างๆ
ขณะที่น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่าการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เรียนต่อในระดับสูงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอเพราะเด็กๆ กลุ่มนี้ขาดโอกาสมาก่อน ดังนั้นจึงควรมีกิจกรรมที่หล่อหลอมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการทำงานเป็นทีม โดยการรู้จักชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน ดังนั้นกิจกรรมที่ มูลนิธิพชภ. จัดขึ้นครั้งนี้เป็นการเปิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนทั้งด้านความหลากหลายชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กๆสนุกและมองเห็นกว้างขวางขึ้น
น.ส.ธันว์ธิดากล่าวว่า โครงการให้ทุนการศึกษาเด็กกลุ่มนี้ ปีละ 2,500 คน เป็นระยะเวลา 5 ปีรวม 12,500 คน โดยจะเป็นต้นแบบโดยพัฒนาควบคู่ไปกับการให้ทุนสนับสนุนสถาบันการศึกษา
“ไม่ใช่ว่าเราจะให้ทุนนักศึกษาอย่างเดียว แต่พัฒนาระบบด้วยเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ดูแลเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบและมีการเรียนการสอนที่ดี รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำ ปัจจุบันเด็กทุน กสศ.เรียนอยู่ใน 30 สาขาซึ่งเป็นไปตามตลาดแรงงาน โดยไม่มีการผูกมัดว่าจะต้องออกมาประกอบอาชีพอะไร”
นานมาแล้วที่ระบบการศึกษาไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้าหลังและไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนของ กสศ.ครั้งนี้จึงน่าสนใจ โดยเฉพาะการเปิดใจกว้างให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอมกันเป็นสยามประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยสูงสุดติดอันดับโลกมาแล้ว การไม่เข้าใจความหลากหลายของชนชาติพันธุ์เป็นประเด็นใหญ่ที่เป็นระเบิดเวลาของสังคมไทย หากคนในสังคมเข้าใจและเปิดรับข้อมูลหลากหลาย เท่ากับเป็นการดับชนวนไว้ได้