เวียงแก่นตั้งเป้าภายใน ปี 63 อาหารกลางวันนักเรียนใช้ผักปลอดภัย 100%

Nation

เชียงราย (23/08/2562) – หลังจากเข้าร่วม”โครงการเด็กดอยกินดี” มาถึงปีที่ 4 โรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น จ. เชียงราย พบทางออกในการที่จะให้เด็กนักเรียนได้กินอาหารที่ผลิตจากผักปลอดภัย เตรียมชักชวนโรงเรียนอื่นทั้งอำเภอและเกษตรกรในชุมชนเข้าร่วมหารือกันเพื่อผลิตอาหารปลอดภัยตั้งเป้าภายในปี 2563 อาหารกลางวันนักเรียนเป็นอาหารปลอดภัย 100%

23 สิงหาคม 2562

นายเอกราช ลือชา ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยาจากอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เปิดเผยในเวทีเสวนาสรุปผลการดำเนินงานโครงการขยายผลการเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและชุมชนต้นน้ำคนต้นน้ำพื้นที่จังหวัดเชียงราย (โครงการเด็กดอยกินดี) ว่า ในวันที่ 6กันยายนนี้ ทางโรงเรียนปอวิทยาได้เชิญชวนให้ครูที่ดูแลเรื่องอาหารกลางวัน ของทุกโรงเรียนในอำเภอเวียงแก่น ตัวแทนโรงพยาบาล อาสามสมัครสาธารณสุขและเกษตรกรในท้องถิ่นมาประชุมกันเพื่อจะส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดภัยมาส่งขายในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้กินอาหารปลอดภัยจากสารเคมี

“การประชุมครั้งนี้จะได้หารือและตกลงกับกลุ่มเกษตรกรว่าใครจะปลูกอะไร ผลผลิตจะได้เท่าไร ออกตอนไหน ที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านไม่ค่อมยอมร่วมมือปลูกพืชผักไร้สารเคมีเนืองจากผักไม่สวยเกรงไม่มีตลาดรับซื้อ ซึ่งหากทางโรงเรียนหากหลายๆโรงเรียนเข้าร่วมกันเราก็น่าจะแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้และจะทำให้โรงเรียนได้มีผักปลอดภัยในการทำอาหารกลางวันให้กับเด็ก คาดว่าภายในปี 63 นี้ “ ผอ.เอกราชกล่าว

เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กสตรีและชนเผ่า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.เมือง จ. เชียงราย

ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้มีการจัดการให้มีการปลูกผัก ที่ปลอดสารเคมี และนำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย แต่เนื่องจากจำนวนผลผลิตที่ทำในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการบริโภคของนักเรียน ทางโรงเรียนก็จำเป็นต้องไปซื้อผักทั้งจากเกษตรกรโดยตรงและจากตลาดทั่วไปมาเสริมซึ่งพบว่ายังคงเป็นผักที่มีการใช้สารเคมีในการผลิต

“วัตถุดิบที่เรานำมาใช้ในการปรุงอาหารนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผักที่ทางโรงเรียนผลิตเองที่ปลอดสารพิษแน่นอน ส่วนหนึ่งเราได้ไปซื้อกับเกษตรกรที่เริ่มหันมาปลูกผักปลอดภัย (ยังเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เราจึงจำเป็นต้องไปซื้อผักจากตลาด แม้ว่าเราจะได้ไปพูดคุยสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้หันมาผลิตผักที่โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่ส่วนใหญ่แม้เข้าใจหรือเห็นด้วยแต่พบว่าเมื่อผักดูไม่ค่อยสวยงามก็ไม่มีตลาดรับซื้อจึงยังผลิตแบบเดิมๆ” ผอ.เอกราชกล่าว

การประชุมร่วมกันระหว่างครูที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวัน โรงพยาบาล อสม. และเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมีนี้จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 6 กันยายนนี้ โดยส่วนหนึ่งในสาระของการประชุมก็จะมีการตกลงกันว่าเกษตรกรคนไหนปลูกอะไร ผลผลิตจะได้เท่าไร ออกตอนไหน ซึ่งหากหลายๆโรงเรียนเข้าร่วมกันจะได้ช่วยแก้แก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้ และทางโรงเรียนก็จะได้มีผักปลอดภัยในการทำอาหารกลางวันให้กับเด็ก ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในปี2563 เด็กๆก็จะได้รับอาหารที่มาจากวัตถุดิบที่ปลอดภัยทั้งหมด

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่องการประชุมร่วมกับครูทั้งอำเภอ ทางโรงเรียนปอวิทยาได้ร่วมงานกับโรงพยาบาลเวียงแก่นให้เข้ามาตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารเคมีที่ติดค้างอยู่ในร่างกายของครูและนักเรียนในโรงเรียนปอวิทยาโดยผู้อำนวยการโรงเรียนเองก็ได้นำตรวจเป็นรายแรกซึ่งทำให้ได้ผลเชิงประจักษ์ถึงการกินอาหารไม่ปลอดภัยว่า ส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

เภสัชกรหญิงไพรินทร์ สาระมนต์ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของการดูแลการตรวจเลือดเปิดเผยว่า ผลการตรวจในนักเรียนพบว่ามากกว่า 80%ของนักเรียนที่เข้ารับการตรวจมีสารพิษอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารพิษที่มาจากยาฆ่าหญ้า และในจำนวนนี้ 61% มีปริมาณสารเคมีที่อยู่ในเลือดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.ชื่นกมล นาคประเสริฐ จากโรงพยาบาลแม่สรวยซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของสารพิษในร่างการว่าในการตรวจผลจะออกมาเป็น 4 ระดับคือ ระดับที่ 1 ปกติ หมายถึงไม่เจอสารพิษในร่างกาย ระดับที่ 2 ปลอดภัยหมายถึงเจอว่ามีสารพิษแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ระดับที่ 3 คือ เสี่ยง หมายถึงมีสารสารพิษอยู่พอสมควร อาจมีความเสี่ยงในอนาคต และระดับที่ 4 คือ ไม่ปลอดภัย คือมีสารพิษอยู่มาก

พณิตพิชา แซ่เติ๋น แกนนำอสม. จากรพ.สต.เล่าฝู อ.แม่จันที่ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เธอปลูกผักปลอดภัยกินเองและได้แนะนำให้เพื่อบ้านปลูกด้วย แต่บางคนก็ยังไม่เปลี่ยนยังคงใช้สารเคมีอยู่เธอก็เจอปัญหาเช่นเดียวกับที่ทางโรงเรียนเจอ และที่ผ่านมามีการตรวจเลือดหลายครอบพบมีสารเคมีตกค้างอยู่ในร่างกายในระดับเสี่ยงแต่เธอและครอบครัวอยู่ในระดับปลอดภัย

จากปัญหาและทางออกที่ทางโรงเรียนได้นำเสนอและโครงการที่ทางพชภ.ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการนำร่องไว้แล้ว ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำที่อยากจะได้เห็นทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้เป็นระดับจังหวัด จึงได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไปยังจังหวัดเชียงรายว่า “ เชียงรายมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในเรื่องการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่จะมีทางเป็นได้หรือไม่ที่จะช่วยให้เด็กออกมามาจากถ้ำสารพิษ

Indochina Publishing Group

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest