เล่นลูกสะบ้า : ความสนุกแบบอาข่าที่นำพาไปถึง Physical activity (PA)

พฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2562 โครงการเด็กดอยกินดี ภายใต้มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้มาบันทึกข้อมูล ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เพื่อจัดทำฐานข้อมูล หนังสือ และสื่อวิดีทัศน์ เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หรือ PA (Physical activity) ตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์

พี่หมีผ่า เบเช อายุ 46 ปี ชาวอาข่าบ้านแสนใจใหม่ แนะนำให้ทีมงานรู้จักกับการเล่นลูกสะบ้าของชาวอาข่า เธอบอกว่าเล่นลูกสะบ้าช่วยในเรื่องการออกกำลังกายได้ดีมากๆ แถมยังเพลินเล่นได้ทั้งวัน ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายกลางแจ้งไม่ขลุกอยู่แต่ในบ้าน พี่หมีผ่าเล่าว่าในช่วงวัยเด็กเธอเล่นลูกสะบ้าเก่งมาก เมื่อมีการแบ่งฝ่ายก่อนเล่น เธอมักจะเป็นตัวเลือกที่เพื่อนๆ ชิงตัวไปอยู่ฝ่ายเดียวกับพวกเขาเสมอ พูดแบบนี้ ก็ต้องท้าทายกันหน่อยล่ะ ทีมงานจึงให้พี่หมีผ่าทดลองเล่นให้ดูทั้งหมด 14 ขั้นตอน จึงสรุปได้ว่าที่เธอคุยไว้นั้นมิได้เกินเลยแต่อย่างใด เธอกินเรียบ.. ส่วนวิธีการเล่นเป็นอย่างไรนั้น จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป

สิ่งที่ได้รับจากการเล่นลูกสะบ้าในแต่ละท่า คือ การเหวี่ยงแขน การกระโดดเพื่อความแข็งแรงของกระดูก การทรงตัวจากการกระโดดขาเดียว การย่อและเกร็งขาและน่อง การเกร็งนิ้วเท้า การมีสมาธิ ฯลฯ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กๆ เกิดทักษะการเข้าสังคมและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านการเล่น ช่วยลดภาวะเฉื่อยและเนือยนิ่งในเด็กได้

การเล่นลูกสะบ้า เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่โครงการเด็กดอยกินดี พยายามส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชนมีแนวทางในการนำกิจกรรมทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ มาประยุกต์เป็นการออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมชาติพันธุ์ในบริบทของการเคลื่อนไหวทางกาย แน่นอนว่าพี่หมีผ่า จะเป็นหนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิธีการเล่นลูกสะบ้า ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชน

ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่าปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอเข้าใช้อินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (ไม่รวมการนอนหลับ) มากกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายในประเทศไทย โดยมีแผนแม่บทส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง ด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม”

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest