รูปและข้อมูลโดย กฤษฏิ์ บุญสาร อาสาสมัครนักสิทธิ มอส.
เมื่อระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2561 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ต้อนรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ Forest People Programme ซึ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 8 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน ณ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชุมชนริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา
ในช่วงเช้าของวันที่ 7 กันยายน 2561 นาง เตือนใจ ดีเทศน์ และคณะจากนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านบุญเรือง อ.เชียงของ โดยได้มีเวทีร่วมกับชาวบ้าน และลงพื้นที่สำรวจผืนป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ซึ่งยังคงสภาพเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง โดยชาวบ้านได้ให้ข้มมูลว่า แม่น้ำอิงป็นแม่น้ำสาาของแม่น้ำโขงไหลผ่าน มีพื้นที่ป่ากว่า 3,000 ไร่ ในป่ามีต้นไม้ยืนต้นจำนวนมาก มีสัตว์น้ำ เช่น ปลาท้องถิ่นมากถึง 100 กว่าชนิด โดยพื้นป่านี้ได้ถูกเสนอให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ตัวแทนชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่าหลังจากทราบว่ามีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านได้รวมตัวกันแสดงจุดยืนในการรักษาป่า และคัดค้านมิให้ใช้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองไปทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวว่า ชุมชนบุญเรืองต่างมีความผูกพันธ์ มีความรักในป่าแห่งนี้ ป่าเปรียบเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต อยากจะกินอะไรในนี้ก็มี ปลาก็มี น้ำผึ้งก็มี ผักต่างๆ ก็มี ชาวบ้านที่นี่มีรูปแบบการดำรงชีวิตแบบอนุรักษ์ ไม่ได้กินแบบทำลาย กินแบบคิดถึงลูก หลาน ในอนาคตด้วย อีกทั้งในพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของศาลปู่สลีบุญเรือง ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนอีกด้วย
ต่อมากลุ่มรักษ์เชียงของ ได้พาคณะลงสำรวจพื้นที่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยนายทองสุข อินทวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ได้เล่าถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำโขงในจีน โดยกล่าวว่าตนเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว เมื่อมีการสร้างเขื่อน ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ในอดีตชาวบ้านก็ทำประมงเป็นหลัก หลังจากการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำไม่เป็นธรรมชาติ ขึ้นๆ ลงๆ ประมงพื้นบ้านไม่สามารถหาปลามาขายได้ตามปกติ
ผู้ใหญ่บ้านได้กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่อาชีพการทำประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่อาชีพเกษตรริมสองฝั่งแม่น้ำโขงก็ล้วนได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวโพด ถั่ว หรือผักพื้นบ้าน ก็ได้รับความเสียหายจากน้ำขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพื่อให้เป็นทางเดินเรือขนส่งของประเทศจีน ลงมายังประเทศท้ายน้ำ ลงไปถึงเมืองหลวงพระบาง ใน สปป.ลาว
ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านห้วยลึกต้องการคือ การรับรู้ข่าวสาร ถึงการเปิด ปิด น้ำของเขื่อนในจีน ว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถวางแผนเวลาในการออกไปทำประมงได้ แต่จากปัญหาที่พบเจอมีบางครั้งที่ตื่นเช้าขึ้นมาพบว่า เรือพายของตนเองได้ลอยไปตามสายน้ำเพราะช่วงตอนกลางคืนน้ำขึ้น พัดเอาเรือที่อยู่บนฝั่งไหลไปตามน้ำจนถึงฝั่งลาว ต้องเสียทรัพย์สินเพื่อไปไถ่เรือกลับมา
“แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องคงจะสูญเปล่าเพราะตอนเขื่อนจะเปิด ปิด น้ำ กว่าข่าวสารจะมาถึงเวลาก็ถึงเข้าไป 3 – 4 วัน แล้ว” นายทองสุข กล่าว
ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึกได้ให้ข้อมูลอีกว่า ห่างจากหมู่บ้านห้วยลึกลงไปอีกประมาณ 90 กิโลเมตร ก็มีแผนการสร้างเขื่อนปากแบง กั้นแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ซึ่งดูเหมือนอนาคตของชาวบ้านนั้นมืดมน นายทุนใหญ่มองเห็นว่าการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องสนุก สำคัญกว่าการดำรงชีวิตของชาวบ้าน มีกำไร มีผลประโยชน์ แต่สิ่งเหล่านี้ได้มาก็ด้วยความทุกข์ระทมของคนตัวเล็ก ตัวน้อย ผู้มีเสียงไม่ดังเท่าคนมีอำนาจเงิน
ในวันที่ 9 กันยายน ในเวทีเสวนามีหัวข้ออภิปรายเกี่ยวกับรูปธรรมในข้อเสนอแนะของการพัฒนาความร่วมมือเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน
ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึง ศักยภาพของแม่น้ำโขงที่จะผลิตพลังงาน เป็นแม่น้ำที่มีการทำประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากนับเป็นเปอร์เซ็นต์ในการทำประมง ถือว่าเป็น 8% ของการจับปลาทั้งโลก แต่ว่าบนแม่น้ำสายนี้ได้มีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ซึ่งเขื่อนนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในขณะนี้มีการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนแล้วเป็นจำนวน 10 แห่ง โดยหลังการสร้างเขื่อนแล้วระดับน้ำในแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำก็เปลี่ยนไป มีลักษณะไม่เหมือนเดิม ซึ่งปลาในแม่น้ำโขงนั้น ถือว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก เมื่อลองคำนวณคุณค่าดูแล้ว ถ้าการสร้างเขื่อนถือว่าติดลบ หรือในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การขาดทุนนั่นเอง
“อยากจะเสนอให้มีการควบคุมพลังงาน จ่ายไฟตอนกลางคืน กลางวันไม่ต้องจ่าย หรือถ้าจ่ายตอนกลางวันก็ปรับราคาพลังงานสูงกว่าตอนกลางคืน ทำไมไม่หยุดสร้างเขื่อน แล้วมาเน้นพลังงานสะอาด เช่น กังหันลม แผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น” ดร.อภิสม กล่าว
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า แต่เดิมวิทยาศาสตร์ต้องเป็นความรู้กระแสหลักในการพัฒนา แต่ตนอยากทำให้ความรู้ที่ไม่ใช่กระแสหลัก ออกมามีบทบาทบ้าง เช่น การทำวิจัยชาวบ้าน เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนกำลังจะทำให้ถูกหาย