ราว 40 ปีก่อน ชาวอาข่ากลุ่มหนึ่งอพยพหนีตายจากการสู้รบในเขตรัฐฉานมาอยู่บนดอยบนดอยแม่สลองโดยปักหลักปลูกบ้านเล็กๆพร้อมทำมาหากินด้วยการปลูกพืชตามความถนัด
จากบ้านไม่กี่หลังได้ขยายเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดความมั่นคงในชีวิต ทั้งอพยพเข้ามาเพิ่มและครอบครัวขยาย จนกลายเป็นหมู่บ้าน “ป่าคาสุขใจ”ในวันนี้
บ้านป่าคาสุขใจตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นชาวอาข่า
หลายทศวรรษที่ผ่านมาเครื่องแต่งกายของชาวอาข่ากลายเอกลักษณ์ของคนบนดอยและคือความงามในความหลากหลายชาติพันธุ์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชม เช่นเดียวกับวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างมูลค่าให้กับสังคมไทยมหาศาล แต่ภาพในโปสเตอร์อันงดงามที่โปรโมทขจรขยายไปทั่วโลกกับเรื่องจริงในชีวิตกลับแตกต่างกันยิ่ง
“ทุกวันนี้ลุงยังไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทย รู้สึกเสียใจมาก ถ้าได้บัตรประชาชนคนไทยชีวิตคงมีความสุขมากขึ้น เพราะไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องกลัวตำรวจจับ” น้ำเสียงของลุงอาแม แซ่เบียว ฟังแล้วชวนหม่นหมองใจไปด้วย ผู้เฒ่าหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านป่าคาสุขใจตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อยเมื่อ 40 ปีก่อน
ลุงอาแมสืบทอดอาชีพช่างทำเครื่องเงินให้ชาวอาข่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยนอกจากบ้านป่าคาสุขใจแล้ว ชาวอาข่าในย่านนั้นตลอดจนข้ามฝั่งไปในเขตรัฐฉานจำนวนไม่น้อยต่างใช้บริการของลุงอาแม
“สั่งทำกันตลอด เขาเชื่อว่าลุงซื้อสัตย์ ไม่มีการเอาเงินผสมไปทำให้ เขาเลยบอกกันต่อๆ”ชุดแต่งกายและเครื่องประดับของผู้หญิงอาข่าพิถีพิถันมากโดยมีเงินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งมีทั้งเงินแท้และเงินผสม ดังนั้นจริยธรรมของช่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“ลูกๆก็ไม่มีใครอยากสืบต่อ ลูกชายคนโตพอทำได้ แต่ตอนนี้เขาก็ไปทำเบเกอรี่ขายแล้ว”ผู้เฒ่าวัย 67 ปีไม่ถึงกลับกลุ้มใจที่อาชีพช่างเงินไม่มีใครรับมรดก
ลุงอาแมมีลูก 7 คน หลาน 16 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แบบโดยบัตรประชาชน ขณะที่ต้นไม้ใหญ่ที่ผลิดอกออกผลสู่สังคมกลับยังต้องถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวสีชมพู หรือชื่อเต็มว่าบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เพราะอาแมไม่ได้เกิดในเขตแดนประเทศไทย การเปลี่ยนสถานะต้องแปลงสัญชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน ที่สำคัญในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขปัญหาให้คนเฒ่าคนแก่ที่ประสบปัญหาเช่นนี้
ถัดจากบ้านลุงอาแมไม่กี่หลัง นางหมี่ซะ อาซังกู่ กำลังตระเตรียมชุดแต่งกายตัวโปรดไว้ให้ลูกสาว นางเพลิดเพลินและพิถีพิถันในการจัดเรียงสมบัติแต่ละชิ้น
“พอได้แต่งชุดนี้แล้วมีความสุข เมื่อก่อนใส่ทุกวัน วันไหนไม่ได้ใส่แล้วรู้สึกเหมือนไม่สบาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แต่งทุกวันแล้ว”นางหมี่ซะก็เช่นเดียวกับหญิงชาวอาข่าคนอื่นๆที่จำเป็นต้องปรับสภาพให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตเร่งรีบในสังคมยุคปัจจุบัน การแต่งชุดอาข่ามักทำกันในตอนที่มีงานสำคัญหรือได้รับการร้องขอจากทางการ
“มันเยอะ รวมน้ำหนักทั้งหมดแล้วหนักไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ต้องใช้เวลาในการแต่งตัวพอสมควร” นางอธิบายเหตุผลที่ชุดอาข่าห่างหายสายตาไปจากหมู่บ้าน “ชุดนี้แค่เหรียญเงินอย่างเดียวก็ 40 เหรียญแล้ว”
นางหมี่ซะเข้ามาอยู่บนดอยแม่สลองเมื่อ 40 ปีก่อนและลูกหลานต่างก็ได้บัตรประชาชนไทยหมดแล้ว โดยแต่ละคนต่างแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม แต่ต้นกำเนิดกลับถูกรัฐทิ้งไว้ข้างหลังและถือเพียงบัตรต่างด้าวสีชมพูเท่ากัน ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรจะได้รับในยามแก่เฒ่าขาดหายไปสิ้น แม้แต่การเดินทางไปเยี่ยมลูกหลานในต่างพื้นที่ก็ต้องยุ่งยาก
“ทำเรื่องขอสัญชาติไปแล้ว แต่ยังไม่ได้”นางหมี่ซะไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนางถึงยังไม่ได้บัตรสักทีทั้งๆที่ลูกหลานกลายเป็นพลเมืองไทยนานแล้ว
เช่นเดียวกับลุงอาจา อ้างซาง ผู้เฒ่าชาวอาข่าวัย 72 ปีที่ระบายความรู้สึกว่า “ทุกคนในบ้านมีบัตรประชาชนหมดแล้ว ยกเว้นพ่อแม่”
ผู้เฒ่าเกิดในฝั่งรัฐฉานและอพยพมาอยู่บ้านป่าคาสุขใจเมื่อ 40 กว่าปีก่อนเช่นเดียวกับลุงอาแมและนางหมี่ซะ โดยลุงอาจาทำหน้าที่พ่อหมอประจำหมู่บ้านอาข่ามายาวนาน
“สมัยก่อนใครป่วย เราก็ต้องรักษาให้ แล้วแต่อาการ บางคนต้องให้ยา บางคนทำพิธีเรียกขวัญ”อดีตพ่อหมออาข่ารับผิดชอบงานของตัวเองอย่างเข้มแข็งเรื่อยมา จนชุมชนอยู่เติบใหญ่มาถึงปัจจุบัน เมื่อการแพทย์แผนใหม่เข้ามาทดแทน แกจึงลดบทบาทลง ขณะที่พ่อหมอกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นเดียวกับคนเฒ่าคนแก่กลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวนไม่น้อย
หลายปีที่ผ่านมามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ร่วมกับนักวิชาการและผู้ปรารถนาดีอีกหลายองค์กรพยายามเข้าไปช่วยเหลือผลักดันให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ได้รับสถานะเหมือนคนไทยทั่วไปเพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ได้สร้างคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมายาวนาน แต่กลับถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
ก่อนก้าวไปสู่นโยบาย 4.0 รัฐควรเหลียวกลับไปมองข้างหลังอีกครั้งดีหรือไม่…มีใครบ้างที่ถูกหลงลืมไป