ครูของผม..ครูของเรา : “ตอน 4 “พ่อเฒ่าจะแต๊ะ”

jatae-04

 

…..แสงแดดยามบ่ายวันนี้ไม่ร้อนแรงเหมือนทุกวันที่ผ่านมา ท้องฟ้าขุ่นมัวดูคล้ายกับว่าฝนจะตกในไม่ช้านี้……จะเป็นไปได้อย่างไรที่ฝนจะตกก็นี่มันฤดูหนาว…จิตใจคนพลอยหม่นหมองตามท้องฟ้าที่ขุ่นมัวไปด้วย…

บ้านจะบูสี… ชาวบ้านกำลังเดินไปยังกระท่อมเล็กๆ ท้ายหมู่บ้านหลังหนึ่ง หลังจากที่จะก่า มูเซอ ผู้นำหมู่บ้านได้ตะโกนเรียกชาวบ้านให้มาดูศพของ พ่อเฒ่าจะแต๊ะ ที่เสียชีวิตด้วยโรคชราหลังจากเจ็บป่วยมาเป็นเวลานาน

ในปีนี้พ่อเฒ่าจะแต๊ะ อายุราวๆ 100 ปีแล้ว จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและจากตัวพ่อเฒ่าเอง บ้านของพ่อเฒ่าซึ่งเป็นกระท่อมหลังเล็กๆที่อาศัยอยู่ได้เพียงสองคน เป็นที่สำหรับพักพิงอาศัยคุ้มแดด คุ้มฝน ที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างให้นั้นบัดนี้เต็มไปด้วยผู้คน ทั้งด้านในกระท่อมและรอบๆ กระท่อม บางคนร้องไห้ บางกลุ่มพูดคุยกันถึงการจากไปของพ่อเฒ่าจะแต๊ะ ที่นำความโศกเศร้ามาให้ชาวบ้านจะบูสีเป็นอย่างมาก

พ่อเฒ่าเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นช่างฝีมือในการจักสานและเป็นผู้นำในการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวลาหู่ ไปสู่ลูกหลานตลอดมา ชื่อจะแต๊ะ เป็นชื่อที่ทุกคนใช้เรียกพ่อเฒ่า ซึ่งพ่อเฒ่าก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปบนดอยแห่งนี้ เพราะพ่อเฒ่าไม่นิยมใส่เสื้อ มีเพียงกางเกงตัวเดียว คนทั่วไปจึงเรียกพ่อเฒ่าว่าจะแต๊ะ ซึ่งมีความหมายอีกนัยหนึ่งคือคนไม่ใส่เสื้อนั่นเอง ชื่อเดิมของพ่อเฒ่าคือนายจะทอ มูเซอร์ แต่ในช่วง 2 – 3 ปีนี้พ่อเฒ่าหันมาใส่เสื้อแทนเพราะสุขภาพย่ำแย่ เพราะหมอให้พ่อเฒ่าใส่เสื้อเพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ถึงกระนั้นก็ตามพ่อเฒ่าก็ยังไม่นิยมติดกระดุมเสื้อจะเปิดอกไว้ตลอดเวลา

ผมเองทุกครั้งเมื่อพบกับพ่อเฒ่าก็มักจะเตือนให้ติดกระดุมเสื้ออยู่เสมอๆ พ่อเฒ่าก็จะหัวเราะแล้วบอกว่า…เฮาบ่อม่วนนะครู…(ไม่สนุก,ไม่ชอบ) ครั้งสุดท้ายที่ผมเจอพ่อเฒ่าเป็นวันที่ 30 และ 31 ธันวาคม 2543 ผมไปเยี่ยมชาวบ้านที่หมู่บ้านจะบูสี และแวะไปเยี่ยมพ่อเฒ่าที่กระท่อม พ่อเฒ่ากำลังป่วยหนักนอนซมอยู่ข้างเตาไฟที่ก่อไฟไว้เพื่อก่อให้เกิดความอบอุ่น..ลูกชายของพ่อเฒ่ากำลังจักสานกระด้งอยู่ข้างๆ เป็นลูกเลี้ยงติดภรรยาของพ่อเฒ่ามาภรรยาคนแรกได้เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านที่พาไปบอกพ่อเฒ่าว่าผมมาเยี่ยม….พ่อเฒ่าพยายามจะลุกขึ้นจากที่นอนที่ดูเก่าๆนั้น… ผมบอกพ่อเฒ่าว่านอนเถอะ ไม่ต้องลุกขึ้นหรอก…พ่อเฒ่าบอกว่ามองไม่เห็นแล้วแต่จำเสียงได้… ครูจะแฮใช่ไหม?… คนที่พาไปจึงบอกว่าใช่… ผมเลยรีบถามพ่อเฒ่าเชิงให้กำลังใจด้วยภาษาลาหู่ว่า พ่อเฒ่าสบายดีนะ… ไม่เป็นอะไรมากหรอกนะเดี๋ยว 2 –3วันก็หายแล้ว…

พ่อเฒ่าแหงนมองหน้าผม… ค…ครู….ครูแดง… ไม่มาเหรอ… พ่อเฒ่าถามผมด้วยเสียงสั่นเครือแหบแห้ง…และ ไอ…ไม่เห็นครูแดงนานแล้วตั้งแต่ปีใหม่ปีที่แล้ว… ครูแดงอยู่ที่ไหน ครูแดงสบายดีอยู่หรือเปล่า?….ผมคุกเข่ามองหน้าพ่อเฒ่าและกุมมือไว้ ผมบอกพ่อเฒ่าว่า ครูแดงสบายดี ครูแดงก็คิดถึงพ่อเฒ่าเหมือนกัน… ถามหาพ่อเฒ่าอยู่บ่อยๆ แต่ช่วงนี้ครูแดงไม่มีเวลา เพราะมีงานเยอะที่ต้องทำเพื่อพี่น้องชาวบ้านของเราและพี่น้องคนไทยทั้งประเทศอีกเยอะ… ผมบอกงานของครูแดงในฐานะวุฒิสมาชิกฯ ว่าต้องทำอะไรบ้างให้พ่อเฒ่าฟัง… แต่พ่อเฒ่าดูจะไม่เข้าใจ แต่ก็ขานรับเป็นช่วงๆ …..ที่อื่นๆเขาก็มีปัญหาเหมือนเราหรือ??พ่อเฒ่าสงสัย..

เวลาผมพูดผมต้องพูดเสียงดัง เพราะพ่อเฒ่าหูไม่ค่อยดีแล้วจึงทำให้กระท่อมน้อยๆ ของพ่อเฒ่าเริ่มมีคนมาเพิ่มมากขึ้นมาฟังผมพูดกับพ่อเฒ่า…พ่อเฒ่ากินข้าวหรือยัง… ผมถามพ่อเฒ่าอีกครั้ง… ไม่อร่อย… กินอะไรก็ไม่อร่อย พ่อเฒ่าตอบผมพร้อมกับบอกว่าอยากกินเนื้อไก่ต้ม… ผมถามลูกชายพ่อเฒ่า… ทำไมไม่ทำให้พ่อเฒ่ากิน สูบยาอยู่หรือเปล่า?… สูบ… ลูกชายพ่อเฒ่าตอบ … มีเงินซื้อยาสูบแต่ทำไมไม่มีเงินซื้อไก่ให้พ่อกิน…ผมบอกลูกชายพ่อเฒ่าเชิงตำหนิ และหันไปทางพ่อเฒ่าแล้วขยับเข้าไปใกล้ๆอีกที แล้วยื่นขนมข้าวซอยตัดให้พ่อเฒ่ากิน กินขนมไปก่อนนะ… พ่อเฒ่าเดี๋ยวให้ลูกชายต้มไก่ให้กิน… ผมหันไปบอกลูกชายพ่อเฒ่าให้รีบไปหาไก่มาต้มให้พ่อเฒ่ากิน ผมจะจ่ายเงินให้… หลังจากนั้นลูกชายพ่อเฒ่าไปทำไก่มาต้มให้กิน แต่ว่าพ่อเฒ่าไม่สามารถเคี้ยวกินได้แล้วจึงใช้วิธีดื่มน้ำแกงแทน ก่อนกลับวันนี้ผมหยิบขนมให้พ่อเฒ่าอีก 2 ห่อ และบอกว่าให้พ่อเฒ่ากินตอนหิว…และกำชับผู้นำหมู่บ้านและคนอื่นๆ ว่าให้ช่วยกันดูแลพ่อเฒ่าให้ดี… ผมภาวนาให้พ่อเฒ่าหายป่วยเร็วๆ และกะว่าจะขึ้นไปคุยกับพ่อเฒ่าอีกครั้ง เพื่อให้พ่อเฒ่าเล่าเรื่องราวต่างๆ ในอดีตของบนดอยแม่สลองและลุ่มน้ำแม่จันให้ฟัง ผมชอบฟังเรื่องราวต่างๆ ที่พ่อเฒ่าเล่าให้ฟัง และดูเหมือนพ่อเฒ่าเองก็จะดีใจมากเวลาที่มีคนฟังพ่อเฒ่าเล่าเรื่องราวต่างๆ พ่อเฒ่าจะเล่าเรื่องสนุกมาก หัวเราะไปเล่าไปตามประสาคนแก่และคุยอย่างตรงไปตรงมาและไม่มีพิษภัยกับใคร…หลังกลับจากหมู่บ้านจะบูสี ช่วงวันหยุดต้นปี 2544 ผมคุยกับภรรยาว่า จะขึ้นดอยอีกครั้งเมื่อไหร่? ผมจะไปหาพ่อเฒ่าเพื่อบันทึกเสียงพ่อเฒ่า… ให้พ่อเฒ่าเล่าเรื่องชีวิตของชาวเขาในเขตดอยแม่สลองและลุ่มน้ำแม่จันให้ฟัง พ่อเฒ่าเป็นผู้อาวุโสคนเดียวในเขตนี้ที่รู้เรื่องราวความเป็นมาของผู้คนและประวัติศาสตร์ในเขตนี้….ความจริงแล้วผมก็บันทึกเรื่องราวต่างๆจากพ่อเฒ่าไว้บ้างแล้วแต่ไม่หมด เพราะพ่อเฒ่ามีเรื่องเล่ามากมายเหลือเกินแต่ละเรื่องนั้นน่าสนใจมาก

ผมบอกภรรยาว่าผมจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อเฒ่านะ เอาไว้ให้คนรุ่นหลังอ่าน…ดีเหมือนกันรีบหน่อยนะตอนนี้พ่อเฒ่ามีอายุมากและไม่สบายอยู่ด้วยเดี๋ยวพ่อเฒ่าจะจากไปเสียก่อน…ภรรยาเตือนผมอย่างเข้าใจเพราะรู้ว่าผมชอบและคุ้นเคยกับพ่อเฒ่าคนนี้เป็นอย่างดี…….แต่โอกาสผมไม่มีแล้ว ผมไม่ได้ทำอย่างที่หวังไว้… ผมกลับไปทำงานปกติหลังจากหยุดพัก และรีบโทรศัพท์ขึ้นไปที่สำนักงานในพื้นที่เพื่อถามข่าวคราวของพ่อเฒ่าจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนดอยนั้นว่า พ่อเฒ่าเป็นอย่างไรบ้างหายป่วยหรือยัง?… พ่อเฒ่าตายแล้วครับครู… ตายตั้งแต่เมื่อวานเวลาประมาณบ่าย 3 โมงครับ(ซึ่งตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2544) เจ้าหน้าที่ตอบผม…

ผมอึ้งไปกับคำตอบที่รับฟังมา…หลังตั้งสติได้ผมรีบถามกลับไปว่าตั้งศพพ่อเฒ่าไว้ที่ไหน… จะทำพิธีอย่างไร…และจะฝังที่ไหน… ชาวบ้านจะแบกไปฝังที่ป่าช้าของหมู่บ้านวันนี้ครับครู… ประมาณบ่ายๆ… ครูจะมาหรือเปล่าครับเสียงปลายสายถามผม… ไปซิไปผมบอกเจ้าหน้าที่คนเดิมและให้รออยู่ที่สำนักงานบนดอยนั้น

หลังวางสายโทรศัพท์แล้วผมกลับมานั่งที่โต๊ะทำงานเหมือนเดิมตั้งสติ สงบนิ่ง ภาวนาให้ดวงวิญญาณของพ่อเฒ่าไปสู่สุขติ… จากนั้นผมจึงบอกเพื่อนๆ ที่ทำงานทุกคนและต่างก็ตกใจกับข่าวพ่อเฒ่าตายและเสียใจกับการจากไปของพ่อเฒ่าจะแต๊ะ เช่นกัน…

ผมรีบโทรศัพท์ไปบอกครูแดงที่บ้านเพราะช่วงนี้ครูแดงทำงานอยู่ที่บ้านและชวนครูแดงว่าไปร่วมงานศพพ่อเฒ่าไหมครับ…ศพพ่อเฒ่าจะแต๊ะ…เงียบครูแดงพูดหยุดไปสักพักหลังผมพูดจบแล้วตอบกลับมาว่าไป… ไปซิ จะแฮไปกี่โมงละ… ครูแดงถามผม… พร้อมกับบอกผมว่าให้แวะซื้อผลไม้ไปสมทบงานศพพ่อเฒ่าหน่อยนะก่อนมารับครูที่บ้าน… ครับ… ผมรีบเตรียมรถแล้วไปแวะตลาดเพื่อซื้อผลไม้ก่อนไปแวะรับครูแดงที่บ้าน…

ครูแดงรู้จักพ่อเฒ่าจะแต๊ะ ตั้งแต่สมัยที่ครูแดงเข้ามาทำงานที่หมู่บ้านปางสาใหม่ๆ ก็ 30 ปีแล้ว และมาพบกับพ่อเฒ่าบ่อยๆ ทุกครั้งที่ครูแดงไปหมู่บ้านจะบูสี ครูแดงจะไปเยี่ยมและพูดคุยกับพ่อเฒ่าเสมอมิเคยขาด เพิ่งมาปีนี้ที่ครูแดงไม่ค่อยมีเวลาไปพูดคุยกับพ่อเฒ่าหลังจากที่ครูแดงเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว แต่ก็มีความห่วงใยฝากไปถึงพ่อเฒ่าเสมอ

ครูแดงและผมเดินทางไปถึงที่สำนักงานบนดอยประมาณ 10 โมงเศษ ฝากผลไม้ไปกับเจ้าหน้าที่ของโครงการซึ่งมารออยู่แล้ว ให้บรรทุกของโดยรถมอเตอร์ไซด์ไปล่วงหน้าก่อน

ผมและครูแดงเดินไปใช้เวลาประมาณ 45 นาที ในระหว่างทางก็คุยกันปรึกษาหารือเรื่องงานตลอดทาง ระหว่างการเดินทางผมสังเกตเห็นครูแดงจะไม่ใส่รองเท้า จะเดินด้วยเท้าเปล่า ครูแดงจะทำอย่างนี้เสมอทุกครั้งที่เดินทางในหมู่บ้าน, ในป่า….ในไร่

ผมไม่แปลกใจที่เห็นอย่างนี้เพราะเคยเห็นเป็นประจำตลอดมา… ครั้งหนึ่งผมเคยถามครูแดงว่าทำไมครูถึงเดินเท้าเปล่าครับ….ครูแดงบอกผมว่าบรรพบุรุษของเราก็เดินด้วยเท้าเปล่าเหมือนกัน… เวลาเราเดินด้วยเท้าเปล่า… เราจะเหยียบถูกสิ่งต่างๆ บนพื้นดิน บนพื้นหญ้า แล้วเราจะรู้สึก… จะอบอุ่นด้วยมีความใกล้ชิดกันและที่สำคัญเป็นการเคารพให้เกียรติผืนแผ่นดินที่เราเหยียบย่ำทุกวันว่าเรามิได้รังเกียจ…ถ้าเราทุกคนจะเดินทางด้วยเท้าเปล่า ผืนดินก็จะสะอาด ไม่มีขยะมูลฝอย… ไม่มีพิษที่เป็นอันตรายต่อคน ต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม…

ก่อนเดินทางถึงหมู่บ้านจะบูสีประมาณ 500 เมตร ก็มีแม่เฒ่าคนหนึ่งอายุประมาณ 68 ปี วิ่งตามมา แล้วมากอดครูแดงบอกว่าคิดถึงจังเลย พอรู้ว่าครูแดงมาหมู่บ้านนี้ก็เลยรีบตามมา… ผม ครูแดงและแม่เฒ่าเดินเข้าหมู่บ้าน มีผู้นำและชาวบ้านทั้งชายและหญิงออกมาต้อนรับที่ศาลาหมู่บ้าน..หลังจากที่พักเหนื่อย ดื่มน้ำชาที่ชาวบ้านเตรียมไว้แล้ว ก็เดินไปเคารพศพของพ่อเฒ่าที่กระท่อมของพ่อเฒ่าเอง เป็นพิธีง่ายๆ ไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ศพของพ่อเฒ่าจะถูกห่อด้วยผ้าห่มที่พ่อเฒ่าใช้ห่มอยู่ทุกวัน กับไม้ไผ่สับและ มัดด้วยตอกไม้ไผ่และสองข้างลำตัวผูกมัดด้วยไม้ไผ่ข้างละเล่มสำหรับคนแบกหามไปยังป่าช้าที่สำหรับฝังศพพ่อเฒ่า…

ผมถามชาวบ้านว่าทำไมไม่ทำโลงศพเหมือนเผ่าอื่นๆ… ชาวบ้านคนหนึ่งบอกผมว่า… ชาวลาหู่จะไม่นิยมทำโลงศพกัน เพราะเชื่อว่า…ชาวละหู่นั้น เวลาเกิดมาก็ไม่มีอะไรติดตัวมา เวลาตายก็จะไม่เอาอะไรไป และชีวิตชาวลาหู่ผูกพันกับป่าไม้ ดิน น้ำ จึงไม่ทำลายสิ่งเหล่านี้เพราะถือว่ามีบุญคุณต่อชาวลาหู่… ผมคิดอยู่ในใจ ถ้าทุกชีวิตในโลกนี้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายพึ่งพาธรรมชาติ รู้จักบุญคุณของธรรมชาติ..โลกนี้ก็คงจะสดใสกว่านี้…ผมและครูแดงไม่ได้ไปร่วมงานที่บริเวณพิธีฝังศพในป่าช้าของพ่อเฒ่าเพียงแต่อธิษฐานแผ่บุญกุศลไปให้เท่านั้น เพราะมีชาวบ้านบอกว่าถ้าใครไปร่วมงานในพิธีฝังศพแล้วต้องกลับมาอยู่เป็นเพื่อนในบ้าน เพื่อทำพิธีอีก 3 วัน ดังนั้นผมและครูแดงจึงไม่สะดวกไป เพราะเวลาน้อยไม่สามารถอยู่ได้ตลอดทั้ง 3 วัน ดังความเชื่อของชาวลาหู่

ผมและครูแดงมาที่บ้านของผู้นำแทน..มีชาวบ้าน 2 – 3 คน กำลังทำอาหารให้ครูแดงและผมกิน… ผมเดินเข้าไปหาแล้วถามว่าทำอะไรกินหรือ…ไก่…ไก่…ครู ผมจะต้มไก่ให้ครูแดงกิน… ผมไม่ได้ซื้ออาหารติดตัวมาเลยเพราะลืมนึกไปว่าต้องมากินอาหารเที่ยงในหมู่บ้าน…

jatae-03
ผู้นำหมู่บ้านเผาข้าวหลามให้ครูแดงกินแก้หิวไปพลางๆ ก่อน ประมาณบ่าย 2 โมงเศษจึงได้กินอาหารเที่ยง ครูแดงจึงชวนผู้นำ คนเฒ่า คนแก่มากินข้าวด้วยกัน ครูแดงจะปฏิบัติเช่นนี้เสมอเวลากินข้าวที่หมู่บ้านจะต้องเชิญเจ้าของบ้านและผู้นำ ผู้อาวุโส กินพร้อมกันซึ่งถือเป็นการเคารพและให้เกียรติกัน… อืม…อร่อยจัง… ครูแดงบอกทุกคน… ผมบอกครูแดงว่าช่วงนี้ไปหมู่บ้านไหนๆก็จะได้กินข้าวใหม่กัน เพราะยังเป็นต้นปีทุกบ้านยังมีข้าวใหม่ที่ปลูกไว้กิน ซึ่งไม่เหมือนปลายปีที่ต้องกินข้าวที่ซื้อจากตลาดในเมือง ในระหว่างที่กินข้าวอยู่ครูแดงได้บอกผมว่า… เราเป็นเจ้าหน้าที่ มีโอกาสได้กินอาหารดีๆ มากกว่าชาวบ้าน เวลากินข้าวกับชาวบ้านเราควรให้เขากินก่อนและกินอาหารดีๆ ก่อนเรา… เห็นไหม… นี่ก็เหมือนกันชาวบ้านเอาอาหารดีๆ มาวางตรงหน้าเราเพราะอยากให้เรากิน…เราก็จงตักพอดี พอเป็นพิธี… แล้วยื่นกลับไปให้ชาวบ้านกินต่อไป…

ทุกครั้งที่ผมและเพื่อนๆ ออกพื้นที่ทำงานในหมู่บ้านต่างๆ พวกเราจะมีอาหารติดมือไปกินด้วยเสมอ และถ้าครั้งใดไม่ได้เอาไปหรือลืมก็จะต้องสมทบค่าอาหารเป็นเงินให้เจ้าของบ้านเสมอ ถึงแม้บางครั้งเจ้าของบ้านจะไม่เต็มใจรับเงินจากพวกเรา และยินดีให้เรากินอาหารฟรี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวบ้านก็ตามบางครั้งก็ซื้อผลไม้ไปฝากในครั้งต่อไปพวกเราก็ไม่เคยลืมที่จะปฏิบัติเช่นนั้นเพราะถือเป็นนโยบายการทำงานในหมู่บ้านของพวกเราเสมอ

กลับจากงานศพวันนั้นผมมาทบทวนคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าจะแต๊ะที่เคยเล่าให้ผมฟังทุกครั้งที่ผมไปพบไปคุยกับพ่อเฒ่าก่อนที่พ่อเฒ่าจะตายจากไป….พ่อเฒ่าเคยเล่าให้ผมฟังว่าใน.””สมัยก่อนนั้นบริเวณแถวดอยแม่สลองปัจจุบันมีคนอยู่ไม่เยอะ มีไม่กี่หมู่บ้าน มีเผ่าลีซูและลาหู่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้คนอยู่เยอะแยะไม่รู้มาจากไหนกัน… พ่อเฒ่าเติบโตในบริเวณนี้จึงรู้ความเป็นไปของพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างดี อากาศหนาว…ป่าเยอะ ต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไปทั่วทั้งดอย…แม่น้ำก็ใส…สามารถมองเห็นตัวปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำได้ดี…ปลาตัวใหญ่ๆ เท่าลำแขนบางตัวก็ใหญ่เท่าๆกับต้นขาของคนเรานี่แหละ คนก็หากินไม่หมด…สัตว์ป่าก็เยอะ…เมื่อก่อนมีช้างด้วยนะ มีกวางป่า หมี เสือ เก้ง หมูป่า และสัตว์เล็กสัตว์น้อยอีกมากมาย คนยิงกินกันไม่หมดหรอก”… แล้วทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีล่ะพ่อเฒ่า…ผมถามพ่อเฒ่าขณะที่ใจก็คิดถึงภาพอดีต จินตนาการตามไปด้วย พ่อเฒ่าเล่าต่อ…มันหมดไปแล้วครู… คนเยอะขึ้น… เดี๋ยวนี้คนจิตใจไม่ดี… ไม่ดียังไงพ่อเฒ่าผมสงสัย…ก็เมื่อก่อนนะคนเรานะอยู่พอดีกินพอดีมีอะไรก็แบ่งกัน หาปลา ยิงสัตว์ได้ก็แบ่งกันและหากินเฉพาะพอกินในครอบครัวเท่านั้น ทำไร่ก็พอดีกินไม่ทำเพื่อขาย…แต่เดี๋ยวนี้คนกินเยอะกินเท่าไหร่ก็ไม่พอ…ทำไร่ก็เยอะเยอะเอาไว้ขาย ป่าถึงหมดไปไงครู…ป่านะบางปีก็เห็นคนเมืองเอารถมาขนไปเยอะแยะมีคนมาตัดป่าเยอะ…เขาบอกว่าขออนุญาตถูกต้องแล้วไม่มีความผิดไม่มีใครจับ…เวลาหาปลานะเมื่อก่อนเราก็ใช้มือจับกันหรือไม่ก็เอาไม้ไผ่มาสานต่อๆกันแล้วกั้นไว้ในบริเวณที่มีปลาเยอะแล้วคนก็ลงไปจับกัน จะจับได้เฉพาะปลาใหญ่ๆ ปลาเล็กๆ ก็ปล่อยไปให้มันโตแล้วค่อยมาจับใหม่ ทำกันอย่างนี้…ไม่มียาเบื่อ ไม่มีระเบิด ไม่มีไฟฟ้าช็อตเหมือนคนสมัยนี้…

พ่อเฒ่าเล่าต่อไปเรื่อยๆสลับกันไปมา … หันมาเล่าเรื่องหมู่บ้านบ้าง…เมื่อก่อนบริเวณแถวนี้มีหมู่บ้านจะบูสีบ้านเดียว หมู่บ้านอื่นก็ย้ายไปย้ายมาอยู่ไม่แน่นอน ส่วนแถวข้างล่างก็มีบ้านปางสา แถวอำเภอแม่จันก็มีคนเมืองอาศัยอยู่แค่ 30 กว่าหลังคาเรือน และมีร้านขายของไม่กี่ร้าน ขายเกลือ, มีด จอบ เสื้อผ้า ที่จำเป็นเท่านั้น…พ่อเฒ่ายังไปปางสาบ่อยๆ เลย…ไปทำไมเหรอ…ผมถามพ่อเฒ่า…ก็ไปพูดคุยกับคนลีซูไง เวลาไปแม่จันก็แวะนอนบ้านปางสาด้วย

สมัยพ่อเฒ่าเลาอ้าย ตั้งหมู่บ้านปางสาใหม่ๆ พ่อเฒ่ายังไปช่วยคุยเลย…ถ้าอย่างนั้นพ่อเฒ่าก็รู้จักกับพ่อเฒ่าเลาอ้ายเป็นอย่างดีซิ…รู้จักสิครู… สมัยก่อนเวลาพ่อเฒ่าไปอำเภอแม่จันจะไปซื้ออะไรหรือ?…ก็ซื้อมีด จอบ เกลือ และผ้าบางอย่างแล้วมาเย็บเป็นเสื้อเองที่บ้าน มีดต้องซื้อหรือผมถามอย่างสงสัย…ไม่ซื้อ แต่เราจะซื้อเฉพาะเหล็ก แล้วเอามาให้ช่างตีเหล็กในหมู่บ้านตีเป็นมีด จอบ เสียม และอุปกรณ์การเกษตร ของที่จำเป็นที่สุดคือ เกลือ เพราะเฮาทำเกลือไม่เป็นครู…ถ้าคนเราไม่ได้กินเกลือนะลำตัวจะออกขนและกลายเป็นลิงนะ…จริงหรือ?พ่อเฒ่า…จริงซี่…พ่อเฒ่าบอกอย่างขึงขังและจริงจัง

เวลาไปตลาดแม่จันจะต้องเดินทางกี่วันล่ะผมถามต่อ….2 – 3 วันแล้วแต่ว่าเราจะเอาของไปขายด้วยเยอะหรือไม่…ถ้าเอาของไปขายด้วยไม่เยอะก็จะเป็น 1 คืน 2 วัน แต่ถาเอาของไปขายเยอะและซื้อของเยอะก็จะเป็น 2 คืน 3 วัน… แล้วนอนที่ไหนละพ่อเฒ่า?…คืนแรกก็จะนอนที่บ้านปางสา บางทีนอนข้างทางในป่าใกล้ๆ หมู่บ้านปางสา ส่วนคืนที่สองก็จะนอนแถวโป่งน้ำร้อน การนอนในป่าข้างทาง…พวกเฮาก็จะทำเพิงเล็กๆ ไว้ มุงด้วยใบตองแล้วก่อไฟเพื่อความอบอุ่น ถ้าไม่ก่อไฟจะหนาวมากนะครู…

พ่อเฒ่าไม่กลัวเหรอเวลานอนในป่าอย่างนั้น…ไม่กลัวหรอกเพราะว่าจะมีคนเดินทางไปมาเรื่อยๆ ชุดหนึ่งไปก็อีกชุดหนึ่งมาเป็นอย่างนี้ตลอด โดยเฉพาะเวลาใกล้ปีใหม่ ขอนไม้ที่จุดไฟก็จะไหม้อยู่ตลอดเวลา…คนผ่านไปกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าไฟก็ยังไม่มอดดับมีคนคอยเพิ่มเชื้อเพลิงให้ลุกไหม้อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดหาย…

พ่อเฒ่าบอกผม…ครูรู้ไหม…เมื่อก่อนบ้านชาวละหู่นะมีผู้นำอยู่สามคนคือ ปู่จอง(ผู้นำหมู่บ้าน) ดูแลด้านการปกครอง, คนต่อมาคือ ตูบู (ผู้นำศาสนา) ดูแลด้านพิธีกรรม, ประเพณี และคนสุดท้ายคือ สาส่อ(ช่างตีเหล็ก) ดูแลด้านการตีเหล็กมีด, จอบ, เสียมให้คนในหมู่บ้าน…มันสำคัญอย่างไรพ่อเฒ่า…แล้วคนอื่นทำไม่เป็นหรือ?…เป็นสิ…แต่สามคนนี้จะเป็นคนเก่งที่สุดที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ…อย่างผู้นำต้องเป็นคนยุติธรรมมีคุณธรรมที่สุด ผู้นำ ตูบูก็ต้องเป็นผู้ทีรู้เรื่องพิธีกรรมประเพณีมีศีลธรรม และส่วนช่างตีเหล็กก็ต้องมีฝีมือดีเพราะ มีด จอบ เสียม ของชาวบ้านทุกคนได้มาจากช่างตีเหล็กคนนี้ เวลามีเรื่องราวในหมู่บ้าน…ผู้นำสามคนนี้ก็จะเป็นคนพิจารณาตัดสิน หมู่บ้านชาวลาหู่จึงสงบ ทุกคนเชื่อฟังผู้นำสามคนนี้…ในแต่ละปีชาวบ้านก็จะรวมแรงกันไปช่วยงานในไร่ให้ผู้นำสามคนนี้เป็นเวลา 2 วัน แล้วแต่งานจะมากน้อย ในช่วงวันที่ชาวบ้านมาช่วยงานผู้นำก็จะฆ่าหมูเลี้ยงเป็นการขอบคุณ และเป็นการทำบุญ…เมื่อก่อนชาวลาหู่ไม่ได้คิดถึงเงินเป็นหลัก ทุกคนคิดแต่บุญคุณ ความดีงามที่ควรมีให้ต่อกัน…

พ่อเฒ่าหยุดถอนหายใจก่อนจะเล่าต่อไปว่า…เมื่อก่อนเฮาอยู่สุขสบาย…เดี๋ยวนี้คนเห็นแก่ตัว ไม่ค่อยทำบุญกันไม่รู้ทำไม…อย่างเฮานะครู…มีแค่นี้…มีบ้าน…มีข้าวกินก็พอแล้ว ผมหันไปมองภายในบ้านของพ่อเฒ่าฝาบ้านผุผุ สานจากไม้ไผ่สับเป็นแผ่นๆสานสลับกันเก่ามากแล้วดูจากสีดำคล้ำจากการถูกควันไฟ…ไม่มีอะไรมากไปกว่าความจำเป็นเลย…มีถ้วยชาม 2 – 3 ใบ หม้อ 2 ใบ ผ้าห่ม 3 – 4 ผืน แล้วก็เสื้อผ้าอีก 2 – 3 ผืน แขวนอยู่ข้างฝา… มีมีดสำหรับใช้ในครัวเรือนและเอาไว้ตัดไม้ไผ่มาจัดตอกเพื่อสานกระด้ง พ่อเฒ่ามีแค่นี้จริงๆ … ชีวิตพ่อเฒ่าจึงไม่มีการทำลายต่อคนต่อสิ่งแวดล้อม…ผมคิดอยู่ในใจ…เมื่อปีที่แล้วผมได้พาคณะไปนอนบ้านจะบูสี มีอยู่คนหนึ่งพอเอาของออกจากกระเป๋าสัมภาระของตัวเองแล้วตกใจ…บอกแก่คณะที่มาด้วยกันว่า…พวกเรานะที่มาศึกษาวิถีธรรมทั้งหมดเนี่ย…ไม่ทราบว่าเข้าใจในธรรมและชีวิตของตัวเองแค่ไหน ตัวอย่างของที่พวกเราใช้ช่างดูฟุ่มเฟือยเหลือเกินดูอย่างเรื่องเสื้อผ้าที่พวกเราเอามาซิ…ของแต่ละคนเวลาเอาออกมาแล้ว….ดูซิ…ชาวบ้าน 10 ครอบครัวใช้ได้อย่างสบายเลย…มีหลายคนที่มาด้วย กล่าวเสริมว่า จริง…จริงๆ ด้วย…

วันหนึ่งผมถามว่า…พ่อเฒ่า…พ่อเฒ่า…พ่อเฒ่ามีบัตรไหม?…มีก่า…ครู…พ่อเฒ่าตอบด้วยเสียงแหบแห้ง…พร้อมกับแกะสายเชือกที่มัดไว้ตรงเอว…ผมชักไม่แน่ใจว่าพ่อเฒ่ากำลังจะทำอะไรให้ผมดู…จึงถามไปว่าพ่อเฒ่าทำอะไรครับ…เฮาจะเอาบัตรให้ครูผ่อ..ก่า…เอ้า! พ่อเฒ่าเก็บบัตรไว้ตรงนั้นหรือ?…เอ้อ…เฮาเก็บไว้ตรงนี้ กลัวหาย…ผมเห็นพ่อเฒ่าแกะถุงผ้าที่มัดด้วยเชือกออกมาทีละชั้นๆ ห่อไว้หลายชั้นมาก…ผมรุกถามต่อทำไมทำอย่างนั้นล่ะพ่อเฒ่า?… เฮากลัวเปียกน้ำนะครู…เป็นบัตรสีฟ้ามีรูปพ่อเฒ่าติดอยู่ ยิ้มนิดๆ แล้วก็ทะเบียนสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูงที่พับไปพับมาเหลือแค่เท่าฝ่ามือ…แล้วพ่อเฒ่าก็เล่าต่อไปอย่างภูมิใจว่า เดือนที่แล้วชาวบ้านไปทำบัตรที่อำเภอและต้องให้คนที่รู้เห็นการเกิดของชาวบ้านมาเป็นผู้รับรอง…เฮาก็ไปที่อำเภอ รับรองให้ทุกคนเลยครู…เอ้าทำไมละ?ผมสงสัย…..ก็เฮาเห็นลูกหลานชาวบ้านที่นี่เกิดทุกคนเลย…ชาวบ้านอยู่ที่บ้านจะบูสีนี้มานาน…ทางอำเภอก็ทำให้ทุกคนเลย..ชาวบ้านได้ถ่ายบัตรหมดแล้ว…ตอนนี้ได้รับสีเหลือง อีกไม่นานก็ได้บัตรจริง เฮาดีใจที่ชาวบ้านจะได้บัตรนะครู… พ่อเฒ่าจะเอาบัตรไปทำไม…แก่แล้ว…เอาซิ…ครู เฮาอยู่ประเทศไทย…เฮาเป็นคนไทยและเฮาก้อฮักในหลวงของเฮานะครู…เพราะในหลวง…เฮาถึงได้อยู่ประเทศไทย…และอยู่อย่างสบาย…..จนถึงทุกวันนี้.

จะแฮ(สุพจน์ หลี่จา)
30 ม.ค 2544

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest