วันนี้ครูต้องทำงานในชุมชนมากขึ้นตามลำดับ การส่งเสริม “อยู่พอดี กินพอดี บนพื้นที่สูง เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน”การพัฒนาชุมอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน มูลนิธิฯ เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาของชาวบ้าน และเคารพต่อธรรมชาติ จึงได้ดำเนิน 10 ภารกิจที่มั่นหมาย
1.คือคนไทยที่สมบูรณ์
ความผัน ความปรารถนาที่สูงสุดของพี่น้องบนดอยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นปู่ย่า ตายาย รุ่นพ่อแม่วัยกลางคน รุ่นเยาวชนหนุ่มสาว และรุ่นเด็กนักเรียน คือการได้เป็นคนไทยที่สมบูรณ์ มีบัตรประชาชน เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ มีสิทธิทางกฎหมายและการเมืองอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกับคนไทยทุกคน ได้เป็น ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ร่วมในระบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร่วมการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ร่วมอนุรักษ์พัฒนาการศึกษาและวัฒนธรรม ร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ คนภายนอกมักสงสัยว่าทำไมชาวเขาจึงอยากมีบัตรประชาชน ชาวเขาจงรักภักดีต่อประเทศไทยแค่ไหน ทำคุณความดีให้ประเทศไทยแค่ไหน จึงเรียกร้องที่จะเป็นคนไทย พูดภาษาไทยก็ไม่ได้ ไม่พัฒนาตนเอง มีแต่ถางป่า เผาป่า ขายยาบ้า ลูกเยอะ ไม่คุมกำเนิด ภาษีรายได้ก็ไม่จ่าย ไม่ยอมเกณฑ์ทหาร อพยพเข้ามากันเรื่อย ๆ ชนกลุ่มน้อยในไทยมีทั่วทุกภาค ทั้งพวกแรงงานอพยพจากพม่าและที่อื่น ๆ ถ้าให้บัตรประชาชนแก่ชาวเขา ก็ต้องให้กลุ่มอื่น ๆ ด้วย ความไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับเกิดมาช้านาน จึงทำให้ปัญหาสถานภาพของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยยังคงกล่าวถึงและแก้ไขกันต่อไป ด้วยความสำนึกว่าตนนั้น “คือคนไทยที่สมบูรณ์”
2.สมดุลกับคนป่า
เป็นที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมการเกษตรบนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ของชุมชนชาวไทยภูเขา โดยไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการกัดเซาะชะล้างพังทลายของหน้าดินและทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงจนทำให้ไม่สามารถปลูกพืชในพื้นที่เดิมติดต่อกันได้หลายฤดูเพาะปลูก ส่งผลให้ชาวไทยภูเขาหาทางออกด้วยการมีพื้นที่เพาะปลูกไม่ต่ำกว่า 2-3 แปลง เพื่อหมุนเวียนสลับกันทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน
แนวความคิดการทำเกษตรแบบยั่งยืน เป็นการใช้พื้นที่แบบเข้มข้นในแปลงเพาะปลูก ซึ่งประกอบด้วยพืชมากกว่า 1 ชนิด ผสมผสานเกื้อกูลเชิงบวกรวมอยู่ในแปลงเดียว ผนวกกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจของพืชที่ปลูก และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของเกษตรกร อันจะส่งผลในการลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลดพื้นที่การเพาะปลูก และลดการเผาไร่อันเป็นสาเหตุหนึ่งของไฟป่า การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การสนับสนุนด้านการตลาด การรณรงค์สร้างค่านิยมของผู้บริโภค แนวทางเหล่านี้เป็นทางออกในอนาคต ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทุ่มเทสนับสนุนอย่างจริงจัง
กระบวนการวางแผนให้ชาวไทยภูเขาเกิดกิจกรรมการเกษตรแบบยั่งยืนนั้นต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือรูปแบบการเกษตรแบบใหม่ สำหรับเกษตรกรนี้จะต้องดีกว่าแบบเดิมในแง่ผลผลิต รายได้ และความรู้สึกของเกษตรกรเอง จึงจะทำให้ง่ายต่อการส่งเสริมและการยอมรับนำไปปฏิบัติ กระบวนการดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลระดับครัวเรือนทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับประชากรและพฤติกรรมของประชากรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจ อันนำไปสู่การวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันของทุกฝ่าย
3.ศรัทธาแห่งวัฒนธรรม ความทรงจำในอดีต
พิธีโล้ชิงช้าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ พิธีกรรมที่สำคัญในรอบปีของชนเผ่าอาข่า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ ระหว่างชาวไร่ ระบบเกษตรและวิญญาณของบรรพบุรุษ คนเฒ่าคนแก่จะมาร่วมกันประกอบพิธีโล้ชิงช้า โดยมีคนหนุ่มช่วยกันตัดต้นไม้และปักเสาชิงช้า ชาวอาข่าเชื่อว่าการโล้ชิงช้าจะทำให้คนอายุมั่นขวัญยืน ผลผลิตพืชไร่จะงอกงามดีและอุดมสมบูรณ์ เกิดความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับวิญญาณบรรพบุรา ในช่วงที่มีการประกอบพิธีโล้ชิงช้านั้น ชาวอาข่าทั้งหมู่บ้านจะหยุดงานในไร่ทุกอย่างเพื่อพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็กและคนหนุ่มคนสาวจะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ เด็กผู้หญิงจะได้เรียนรู้ลักษณะงาน บทบาทหน้าที่จากแม่และเด็กผู้ชายจะได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่จากพ่อ จัดได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่ชุมชนได้สืบทอดมาช้านานแล้ว
ในสังคมชนเผ่าทุกแห่งจะพบว่ากลุ่มคนเฒ่าคนแก่เป็นกลุ่มที่มีพลัง และดูแลความสงบสุขของคนในชุมชนซึ่งมักได้รับการยอมรับนับถือจากคนหนุ่มสาวและชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ภาพที่เห็นอยู่เสมอ คือ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่นั่งอยู่รอบ ๆ กองไฟในบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกในครอบครัวและญาติพี่น้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์และตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ระหว่างชนเผ่า ความสุขในเทศกาลประจำปีและตำนานของหมู่บ้าน เด็กผู้หญิงมักมีความสุขกับการเย็บปักถักร้อยร่วมกับกลุ่มแม่บ้านและญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิง ศึกษาเรียนรู้ลายปักผ้าแบบต่าง ๆ ที่ออกแบบตามความเป็นไปของธรรมชาติ เช่น รอยเท้าเสือ แววตาของแมวป่า เทือกเขาสลับซับซ้อน แนวไม้ในป่า เป็นต้น
วัฒนธรรมประเพณีที่ร้อยเรียงอยู่ในสังคมนั้น ประกอบด้วยความหลากหลาย และมีสีสันที่งดงามตามเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า ซึ่งทำให้สังคมไทยมีเสน่ห์และน่าอยู่ ทิศทางการพัฒนากระแสหลักของประเทศจึงควรเน้นให้เอกลักษณ์ของแต่ละสังคมดำรงอยู่ได้ โดยมีการสืบทอดถึงคนรุ่นต่อๆ ไป ผ่านกระบวนการการศึกษาและกิจกรรมงานพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้คนมีรากฐาน มีศรัทธาในความเชื่อและภูมิปัญญาของชนเผ่า เด็กและเยาวชนรุ่นหลังจะได้ยืนอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างมั่นคงสง่างาม และเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ
4.เกษตรเพื่อชีวิต
“อยู่กินกับป่า ด้วยปัญญาที่มีอยู่” คือคำพูดของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าย้อนถึงความต้องการในอดีตเคยมีชีวิตอยู่กับการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ มีมีดและจอบเป็นเครื่องทุ่นแรง ร่องรอยแห่งความลำบากตรากตรำยังมีให้เห็น
ถึงแม้ว่าจะแผ้วถางที่ทำกินไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดว่าป่าจะหมดไปแต่ในใจลึก ๆ แล้ว คงรักษาป่าบางส่วนเอาไว้ตามประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ
ปัจจุบันพัฒนาการด้านเทคโนโลยีภาคเกษตรกรรม คือความพยายามของมนุษย์ เพื่อลดขั้นตอนการผลิต แต่ต้องการปริมาณมากมาย เพื่อสนองตอบความต้องการที่ไม่หยุดยั้ง ภาวะเศรษฐกิจบีบคั้น วิธีทำเกษตรกรรมแบบชาวบ้านเปลี่ยนไป ปัญหาต่าง ๆ ติดตามเหมือนเงา ป่าไม้ถูกทำลายมากมาย ดินเสื่อมสภาพ สารพิษตกค้าง
โครงการเกษตรยั่งยืน คือเป้าหมายในการใช้พื้นที่ทำกินให้ยาวนานถึงลูกหลายทำแนวระดับ ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยใช้ต้นกระถิน ถั่วมะแฮะ บำรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่ว งดการใช้สารเคมี ปลูกไม้ผลเพิ่มความหลากหลาย และเป็นรายได้หลักในอนาคต แต่ละแปลงมีพันธุ์พืชปลูกไม่น้อยกว่า 20 ชนิด รักษาสภาพป่าให้มีความสมดุลย์ เป็นความพยายามของชาวบ้านในการฟื้นฟูสภาพดิน น้ำ ป่า มีเจ้าหน้าที่เหมือนญาติพี่น้อง ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เพื่อแปรเป็นภาคปฏิบัติ
โครงการเกษตรยั่งยืนจะสำเร็จได้จะต้องมีสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย คือ การรณรงค์และปลุกจิตสำนึกให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคผักที่มีสารเคมี เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดจากความต้องการของผู้บริโภคเอง จะเห็นว่าการเริ่มต้นรวมกลุ่มของเกษตรกรแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่สามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจชุมชนได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าคนกับป่าสามารรถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ยั่งยืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และคงจะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิด ๆ ของสังคมที่ว่าชาวเขาเป็นผู้ทำลายลงบ้างไม่มากก็น้อย
5.ธุรกิจเพื่อชุมชน
ธุรกิจชุมชนเป็นงานที่ พชภ. มีความใฝ่ฝันมานาน ประกอบกับเป็นความต้องการของกลุ่มคนที่ไม่อยากจะออกจากชุมชนมาดิ้นรนต่อสู้ชีวิตในเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ พชภ. จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้การสนับสนุนและทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต และที่ผ่านมาพอมีกลุ่มผู้สนใจในชุมชนได้นำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่มาแปรรูปบ้างแต่ก็ยังทำได้น้อย เพราะยังขาดทักษะต่าง ๆ มากมาย เช่น ทักษะการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และที่สำคัญคือทักษะการตลาด ซึ่งวิถีการดำรงชีพและความถนัดในการทำผลิตภัณฑ์ไม่มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในวงกว้าง และเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น พชภ. จึงได้พากลุ่มชาวบ้านไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่ชุมชนสาคลี จ.พระนครศรีอยุธยา จึงทำให้ชาวบ้านได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนของธุรกิจชุมชนที่พึงตนเอง หลายอาชีพพร้อมกับได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริง
หากสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ได้ขยายผลทางความคิดสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น มิติใหม่ของวัฒนธรรมการบริโภค ที่เป็นการบริโภคแต่พอดีและไม่มีพิษภัยจะสามารถยับยั้งวัฒนธรรมการบริโภคในปัจจุบันที่เป็นการบริโภคจนเกินความพอดี จนธรรมชาติไม่สามารถรับได้
6.เยาวชนก้าวหน้า
หนุ่มสาวชาว พชภ. มีความฝันว่าจะทำงานกับเยาวชนด้วยความมุ่งมั่นว่าจะจุดประกายให้คนหนุ่มสาวแสดงพลังที่ซ่อนอยู่ภายในของทุกคน ให้มีประกายสู่งานพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม งานพัฒนาอาชีพ งานรณรงค์ป้องกันยาเสพติด เอดส์ และโสเภณีเด็ก หลายคนคงมีความฝันไม่ต่างกันนัก และเชื่อว่าคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดลักษณะนี้มีปะปนอยู่ในทุกกลุ่ม ทุกชุมชนและทุกภูมิภาค
จากประสบการณ์การทำงานของ พชภ. ที่ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคนหนุ่มสาวในชุมชนชาวไทยภูเขา พบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ที่นั่งวาดฝันไว้เลย ตราบใดที่ไม่สามารถทะลายเกราะหรือกำแพงที่โอบล้อมเขาอยู่ โอกาสที่จะเข้าถึงจิตใจคนหนุ่มสาวนั้นแทบไม่มีเลย ประสบการณ์สอนให้คนทำงานต้องพยายามเข้าใจเยาวชนและไม่กลายเป็นสาเหตุให้เกิดเกราะและกำแพงขึ้นเสียเอง
วิสัยทัศน์และภารกิจของมูลนิธิฯ ที่ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ “ชุมชนอยู่พอดีกินพอดีบนพื้นที่สูง” น่าจะเป็นวิธีการและหลักการที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุดกับสภาพการณ์ปัจจุบันโดยเน้นถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นชนเผ่าเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองมากที่สุด
7.หญิงชายเคียงบ่าเคียงไหล่
องค์ประกอบที่สำคัญของชุมชนชาวเขา คือ กลุ่มผู้อาวุโสชายหญิงที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามแก่คนรุ่นหลัง กลุ่มผู้อาวุโส เผ่าลีซอเล่าว่า นานมาแล้วเทวดาผู้เป็นใหญ่ได้สร้างโลกขึ้นมาพร้อมด้วยดิน น้ำ ป่า เขา และได้ปั้นดินเป็นชายหญิงคู่แรกของมนุษย์ โดยมุมมองของสังคมดั้งเดิมแล้วชายหญิงเป็นคนที่มีความเป็นคนเท่าเทียมกัน มีกำเนิดจากสรรพสิ่งเดียวกัน
สังคมของชุมชนชาวเขาเป็นสังคมที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะตนเอง และอยู่ห่างไกลจากชุมชนอื่น ๆ บทบาทหน้าที่ของคนในชุมชนเป็นบทบาทที่สังคมสั่งสมมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยอยู่บนพื้นฐานของความแข็งแรง ตามสภาพร่างกายตามธรรมชาติ กล่าวคือ ผู้ชายซึ่งมีความแข็งแรงกว่าผู้หญิงมักมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการเลี้ยงชีพด้วยการอาชีพล่าสัตว์ ตัดไม้สร้างบ้าน แบกลากไม้จากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน ตัดและถางพงเพื่อทำการเกษตร ผู้หญิงซึ่งมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงน้อยกว่าตามธรรมชาติจะมีบทบาทหลักในการดูแลรักษาไร่นา เก็บผลผลิตทางการเกษตร รับผิดชอบด้านการขยายพันธุ์พืชไร่ พืชผักชนิดต่าง ๆ ดูแลงานภายในบ้าน การเลี้ยงดูลูกหลานตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงวัยแรกรุ่น ประสบการณ์ วิธีคิดและมุมมองของกลุ่มผู้ชาย และผู้หญิงในชุมชนชาวเขาไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะทุกกลุ่มคนรู้จักกันเป็นอย่างดี วิถีชีวิตของคนในชุมชนดำเนินไปตามแบบแผนที่สังคมกำหนดไว้อย่างสมดุล สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม
ต่อมาเมื่อมีงานพัฒนาชุมชน หรือโครงการพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน เป็นจุดที่ทำให้บทบาทของชายหญิงในชุมชนแตกต่างกันโดยไม่ได้ตั้งใจ กล่าวคือ กิจกรรมเพื่อการพัฒนามักจะให้ความสำคัญกับชายหรือหญิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยมากมักจะขาดการวิเคราะห์ชุมชนอย่างลึกซึ้งถึงบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและบทบาทหน้าที่ของผู้ชายในชุมชน บทเรียนการทำงานโดยไม่เข้าใจบทบาทหญิงชายของ พชภ. เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกใน พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นปีแรกที่มูลนิธิฯ ทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตรแนวระดับ สืบเนื่องมาจากสภาพปัญหาดินเสื่อมสภาพความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตพืชไร่ต่ำลงทุกปี ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินมีมากขึ้น คณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงได้พูดคุยกับกลุ่มคณะกรรมการของหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชาย พร้อมกับจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้านในด้านการเกษตรโดยการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ และการฝึกอบรมเทคนิคต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
พ.ศ.2531 กิจกรรมการเกษตรแนวระดับในไร่ ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมนำไปประยุกต์ใช้ในงานไร่นาของตน แต่หลังจากนั้นพบว่าแถวพืชตระกูลถั่วยืนต้นคือ กระถินยักษ์ และถั่วมะแฮะที่ปลูกเป็นแนวระดับถูกขุดทิ้งบ้างถูกตัดบ้างและบางพื้นที่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า หรือปล่อยให้มีไฟป่าลุกลามเข้ามาในไร่ของตน จากการสรุปผลพบว่ากลุ่มหญิงแม่บ้านซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาและรับผิดชอบงานเกษตรในเรือกสวนไร่นา ยังไม่เข้าใจประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำแนวระดับองค์ความรู้และข้อมูลที่คาดว่ากลุ่มผู้ชายหรือพ่อบ้านจะส่งต่อให้กับกลุ่มผู้หญิงนั้นไม่เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ มูลนิธิฯ จึงได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมปลูกพืชแนวระดับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นที่กลุ่มผู้หญิงแม่บ้านทั้งหมด ภายหลังการดำเนินกิจกรรมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แนวทางการประยุกต์ใช้และขยายผลเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ มีกายอมรับกว้างขวางมากขึ้น และขยายพื้นที่สู่กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ได้มากขึ้น
บทบาทของหญิงชายในชุมชนชาวเขามีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างมา เพราะหากมีการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของหญิงชายอย่างถูกต้องและแม่นยำแล้ว จะทำให้แนวการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนมีความชัดเจนตรงทิศทาง สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของคนในชุมชนมากขึ้น อันจำนำไปสู่งานพัฒนาชุมชนที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมและประสบผลสำเร็จในที่สุด
8. ฟ้าใส ดินสะอาด
สมัยที่ดอยแม่สลองอยู่ไกลแสนไกลบนภูเขาแนวป่า วิถีชีวิตของผู้คนบนดอยสูงเหล่านี้ ไม่ค่อยได้ติดต่อสัมพันธ์กับสังคมเมืองมากนัก เนื่องจากระยะทางที่จะสามารถติดต่อคมนาคมกับชุมชนเมืองนั้นต้องเดินเท้านานถึง 2 วัน ชาวบ้านสร้างบ้านที่ทำจากไม้ไผ่ บ้านที่ทำจากดินเหนียว หลังคามุงด้วยหญ้าคา วัสดุและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนมาจากธรรมชาติ บรรดาเศษอาหารต่าง ๆ ก็สามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ หมู หรือเป็ดได้ ภาชนะที่ชาวบ้านใช้บรรจุอาหารเป็นสิ่งที่นำมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น ใบตองห่อข้าวร้อน ๆ ที่ชาวบ้านใช้ห่อไปกินที่ไร่ กระบอกไม้ไผ่ ใช้ทำกระบอกสำหรับตักน้ำจากลำห้วย และตอกหรือเชือกกล้วยที่ใช้สำหรับมัดห่อของ เป็นต้น ภาชนะเหล่านี้เมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็สามารถทิ้งไว้ทั่ว ๆ ไปได้ และไม่ช้าก็จะย่อยสลายกลายเป็นดินในที่สุด ชาวบ้านที่อายุราว 60 ปี เล่าให้ฟังว่า ยังจำภาพตัวเองได้ติดตาเมื่อต้องไปซื้อเนื้อหมูให้พ่อแม่ พ่อค้าเนื้อหมูจะไม่ใส่เนื้อหมูในถุงพลาสติก แต่จะใช้ตอกแหลม ๆ เสียบ และมัดเป็นวงสำหรับหิ้วเนื้อกลับบ้าน
ดอยแม่สลองแลหมู่บ้านชาวเขาในปัจจุบันไม่ไกลอย่างที่คิด ด้วยเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย ทำให้ความเจริญต่าง ๆ และความเปลี่ยนแปลงขึ้นไปถึงยอดดอยอย่างรวดเร็ว ภาชนะที่ชาวบ้านใช้บรรจุสิ่งของเริ่มนำมาจากสังคมเมือง จากที่ไม่เคยมี ไม่เคยใช้มาก่อนก็ได้มีและได้ใช้ เช่น ถุงพลาสติกหลากสี กระป๋องที่ใช้บรรจุอาหารชนิดต่าง ๆ ขวดนานาชนิด รวมถึงกระดาษห่อของ กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ชาวบ้านบางคนได้นำมามวนใบยาสูบเป็นประจำ ปริมาณนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ปริมาณขยะในพื้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่เป็นระเบียบ และมีพื้นที่รองรับขยะไม่เพียงพอ
ความพยายามของหน่วยงานและองค์กรประชาชนในเขตดอยแม่สลองในการที่จะจัดการขยะเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 โดยคณะกรรมการหมู่บ้านแม่สลอง และองค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดพื้นที่เพื่อทิ้งขยะและมีเตาเผาขยะโดยเฉพาะ ทั้งยังได้จัดรถขนขยะจากบริเวณหมู่บ้านไปทิ้งบริเวณเตาเผาขยะอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ประการยังคงทำให้มีการทิ้งขยะอยู่ทั่วไปตามซอกเขา และลำห้วยอยู่บ้าง ดังนั้น ลำพังการจัดพื้นที่เพื่อทิ้งขยะ เตาเผา ขยะ และรถเก็บขยะยังคงไม่สามารถจัดการกับปัญหาขยะได้ ต้องมีการจัดการกับลักษณะของขยะแต่ละชนิดด้วย โดยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรับซื้อในราคาถูก
โครงการพลังสะอาด โดยการริเริ่มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาหารือกับหน่วยงานที่ทำงานพัฒนาชุมชนระดับท้องถิ่น คือ มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้นำขยะมาเป็นพลังงาน ซึ่งจะนำขยะที่สามารถย่อยสลายได้ มาผลิตพลังงานความร้อย พลังงานไฟฟ้า และนำขยะที่ยังคงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นพลังงานของชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ยังคงอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องบนดอยแม่สลองที่จะรักษาผืนป่าให้สดใส มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ให้แผ่นดินสะอาด ปราศจากขยะอันเกิดจากความไม่รู้เท่าทัน
9.อิสรภาพของสายน้ำ
แม่น้ำ..แม่จัน มีต้นกำเนิดในบริเวณพื้นที่ป่าทางทิศตะวันตกของดอยแม่สลอง ไหลผ่านหมู่บ้านพีน้องชาวไทยภูเขา สู่ผืนนาพี่นองชาวไทยพื้นราบ ในเขตอำเภอแม่จัน พี่น้องชาวไทยภูเขาและชาวไทยพื้นราบ ได้พึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ ประกอบอาชีพทางการเกษตร เป็นแหล่งอาหาร ชื่นชมความงดงามตามธรรมชาติได้อย่างเสรี
ความปรารถนาของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งลำน้ำ อยากเห็นแม่น้ำมีความสะใสอาด ดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ฝูงปลาน้อยใหญ่ สำนึกว่าคนทุกคนเป็นลูกของแม่น้ำ ต้องร่วมกันปกป้องแหล่งก่อกำเนิดของต้นน้ำ แสดงให้เห็นความเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ ปกป้องรากฐานวัฒนธรรมอันดีงามของตัวเองที่ผูกพันกับธรรมชาติมาช้านาน
ประเพณีสืบชะตาแม่น้ำจัน ได้เริ่มขึ้นเมือ พ.ศ.2540 โดยความริเริ่มของท่านนายอำเภอแม่จันและราษฎรทุกฝ่าย ได้เกี่ยวร้อยให้พี่น้องชาวไทยพื้นราบโยงใยสายสัมพันธ์ต่อพี่น้องชาวไทยภูเขา เพื่อทำให้น้ำแม่จันได้มีชีวิตอย่างมีอิสรภาพ ขณะเดียวกันพี่น้องชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่บนแหล่งต้นน้ำ ก็มีความพยายามที่จะปกป้องแหล่งก่อกำเนิดของต้นน้ำ บริเวณน้ำตกที่สวยงาม ทำทำเกษตรที่ลดการพึ่งพาสารเคมี มีระบบการเกษตรที่ปกป้องการพังทลายของดิน สิ่งที่คิดถึงต่อมาคือการอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อให้น้ำแม่จันได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี โดยเริ่มที่ความร่วมมือของชาวบ้านปางสา จะหยี และเล่าฟู ในพ.ศ.2541 ได้ไปดูงานอนุรักษ์พันธุ์ปลา และความร่วมมือจากเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำน่าน ของกลุ่มฮักเมืองน่าน
แม่จัน สายน้ำแห่งกาลเวลาจะสามารถหลั่งไหลลงไปได้อย่างอิสรภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้คนที่พึ่งพาอาศัยสายน้ำแม่จันมีความสำนึกและตระหนักในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ดูแลความใสสะอาด รู้จักการใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูล เชื่อว่าแม่จันคงสามารถทำหน้าที่ตามความปรารถนาของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งลำน้ำ ตลอดถึงผู้คนอื่น ๆ ในสงคมได้อย่างยาวนานและมั่นคง
10.ความฝัน “อบต.” สันติประชาธรรม
“การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น” คือ การประกาศเจตนารมณ์ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมทางความคิดของประชาชนและผู้บริหารประเทศ เพื่อให้ประชานในประเทศมีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจ ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการของระบบประชาธิปไตยที่สนองตอบต่อประชาชนได้อีกระดับหนึ่ง แต่ขั้นตอนของการนำไปสู่ความใฝ่ฝันยังต้องใช้เวลาตกแต่ง ต่อเติม อย่างอดทนอดกลั้น เพราะรากเหง้าแห่งอำนาจของการปกรองประเทศที่มีมาช้านาน ยังคงเป็นความเคยชินของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หากหันมามองสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เติบโตมาจากผู้นำชุมชนในเขตภูเขา ทีมีเจตนาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานระดับท้องถิ่น ยังขาดโอกาสเพราะเงื่อนไขสถานภาพทางกฎหมาย (ไม่มีบัตรประชาชน) ถึงแม้จะได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชน มีเพียงไม่กี่คนที่มีความพร้อมในเงื่อนไข สถานภาพทางกฎหมาย ดังนั้นการถูกแทรกแซงจากคนภายนอก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“อบต. ในความฝัน” ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง อยากเห็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นประชาชนพื้นที่สูงได้เข้ามามีบทบาทโดยไม่มีอุปสรรคแห่งสถานภาพทางกฎหมาย ได้ใช้หลักทางวัฒนธรรมและคุณธรรมที่ดีงามของชุมชนในการบริหารจัดการ ให้มีกฎหมายรองรับการตรวจสอบ มีกระบวนการตรวจสอบระดับท้องถิ่น สนับสนุนให้สตรีเข้ามามีบทบาทในสัดส่วนเท่าเทียมกับชาย การวางแผนปฏิบัติงานต้องให้ความสำคัญกับมิติทางการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นการสร้างคน สร้างทรัพยากรมนุษย์ มากกว่าการก่อสร้างทางวัตถุ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาความคิดของบุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบล ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากว่าส่วนตน