วันนี้ในหมู่บ้านดูคึกคักเป็นพิเศษ มีคนแปลกหน้ามากันเยอะแยะที่บ้านผู้นำ แล้วเดินเล่นทั่วหมู่บ้าน ทักทายชาวบ้านคนโน้น คนนี้ แม้จะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องนัก ผมถามแม่หลังจากแม่กลับจากการประชุมที่บ้านผู้นำ…แม่บอกว่าเป็นคนมาจากกรุงเทพฯ เป็นนักศึกษาจะมาสอนพูดภาษาไทยและหนังสือให้คนในหมู่บ้านเราและให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างโรงเรียนแม่บอกผมสั้นๆแค่นั้น ผมยังไม่เข้าใจคำว่า สอนหนังสือ เรียนหนังสือและภาษาไทย เพราะเกิดมาผมก็รู้จักแต่ภาษาลีซอ ล่าหู่ และจีนฮ่ออีกนิดหน่อย ผมคิดอยู่ในใจ……….
ไม่กี่วันต่อมา โรงเรียนก็สร้างเสร็จด้วยรูปทรงง่าย ๆ หลังคามุงด้วยหญ้าคามัดเป็นฟ่อนๆเท่ากำมือ สอดเข้ากับช่องลำไผ่ที่วางเป็นแนวยาวจากจั่วหลังคาลงมาแล้วหักพับทับกันเป็นชั้นๆ ฝาห้องใช้ไม้ไผ่ซางแก่สับเป็นแผ่นแล้วสานไขว้สลับกันไป และบ้านพักครูซึ่งเป็นกระท่อมดินอีกหนึ่งหลัง หลังจากนั้นก็มีเด็ก ๆ ที่อายุมากกว่าผมไปเรียนทุกวัน ตอนกลางคืนผู้คนก็จะมารวมกันที่โรงเรียนกันหมด เนื่องจากมีแสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ บางคืนแม่ก็มารับผม ถ้าผมกลับบ้านดึก เช่นคืนนี้แม่มารับผมที่โรงเรียน ขณะที่ผมกำลังเล่นกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนานที่สนามโรงเรียนจนไม่อยากกลับบ้าน ผมบอกแม่ให้อยู่เป็นเพื่อนผมด้วย แม่ก็ตามใจ……….
ตะเกียงเจ้าพายุตั้งไว้กลางสนาม มีเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ล้อมวงกันอยู่รอบตะเกียง ครูร้องเพลงและนำเล่นเกมส์กันอย่างสนุกสนาน ผมยืนอยู่ข้าง ๆ แม่ ไม่กล้าเข้าไปดูใกล้ ๆ ผมยังเป็นเด็กขี้อายอยู่มากทีเดียว
ผมถามแม่ว่าครูชื่ออะไรครับแม่ ครูผู้หญิงคนนี้เขาเก่งมากนะครับ มาอยู่กับคนในหมู่บ้านเราได้ แม่หันมามองผม ครูแดง ครูคนนี้ชื่อ ครูแดง แม่บอกผม แล้วรีบหันไปมองกลุ่มเด็ก ที่กำลังเล่นเกมส์มอญซ่อนผ้าอยู่ และเกมส์ต่าง ๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมจำไม่ได้ว่าดึกมากแค่ไหน ครูแดงกำลังบอกทุก ๆ คนว่า คืนนี้พอแค่นี้นะ พรุ่งนี้ค่อยเล่นกันใหม่ ผมเดาและเข้าใจเอาว่าอย่างนั้น เพราะผมยังพูดและฟัง ภาษาไทยไม่ได้เลยนี่ แล้วเด็ก ๆ ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
ผมเดินกลับบ้านกับแม่และกลุ่มเพื่อนบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง แม่ถือซี่ไม้ไผ่สับแห้งมัดขนาดกำมือยาวประมาณหนึ่งเมตร แล้วจุดไปไฟเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางกลับบ้าน ในระหว่างทางผมได้ยินกลุ่มแม่ ๆ คุยกันว่าครูแดงเก่งจริง ๆ เลยนะ กลางวันสอนหนังสือให้เด็ก ๆ หลังจากสอนหนังสือแล้วก็ไปเยี่ยมชาวบ้านและเดินดูไร่ชาวบ้านเกือบทุกวัน กลางคืนก็สอนผู้ใหญ่ ทุกคนทึ่งในความเก่งกล้าของครูแดงและชาวบ้านก็รักครูแดงกันทุกคน…..
ดึกมากแล้วแต่ผมยังนอนไม่หลับ ยังคิดทบทวนถึงกิจกรรมที่เพิ่งผ่านมาเมื่อค่ำนี้ เห็นเพื่อน ๆ พูดภาษาไทยได้ ร้องเพลงได้ และได้เล่นเกมส์อย่างสนุกสนาน ผมเริ่มอยากเป็นเหมือนเพื่อน ๆ ผมคิดอยู่ในใจ …..ผมอยากไปโรงเรียน …..อยากเรียนหนังสือ …..อยากร้องเพลง….เหมือนคนอื่น ๆ …..
แม่ครับ….. ผมไปเรียนหนังสือได้ไหมครับ ผมถามแม่ขณะที่แม่กำลังเข้านอน แม่ไม่ตอบอะไร ผมเข้าใจว่าแม่กังวลเรื่องน้องสาวยังเล็กอยู่เลย ถ้าผมไปเรียน แล้วใครจะเลี้ยงน้องล่ะ แล้วผมก็รีบบอกแม่ว่า ผมจะพาน้องไปเรียนด้วยครับ เพื่อน ๆ คนอื่น ก็พาน้องไปโรงเรียนได้ ครูเขาไม่ว่าอะไร ผมเห็นรอยยิ้มของแม่ภายใต้ตะเกียงดวงเล็ก ๆ ก่อนบอกผมว่า นอนเถอะลูก รีบนอนซะ พรุ่งนี้จะได้ไปเรียน
ผมดีใจมาก คิดอยู่ตลอดทั้งคืนว่าพรุ่งนี้จะไปโรงเรียนแล้ว จะพูดจะคุยกับครูอย่างไรดี ผมจะพูดได้ไหม ผมยังไม่แน่ใจตัวเอง.. จะเกิดอะไรขึ้นกับผมในวันพรุ่งนี้ แม่ยื่นมือมาลูบหัวผมแล้วถามว่ายังไม่หลับหรือลูก ผมไม่ได้ตอบแม่ว่าอย่างไร พยายามข่มตาหลับต่อไปด้วยใจจดใจจ่ออยากให้ถึงพรุ่งนี้เร็ว ๆ ..
“สวัสดีครับ คุณครู….”
เอ้ก…อี้เอ้ก…เอ้ก…. ไก่ที่แม่เลี้ยงไว้ ขันแต่เช้า ดังแว่วออกมาจากเล้าที่ผุพังข้าง ๆ บ้าน แม่ตื่นแล้ว ผมเห็นแสงไฟจากเตาไฟที่แม่ก่อไว้ ผมเรียกแม่สองสามครั้ง แต่เงียบ ไม่มีเสียงแม่ตอบรับ ผมเดาในใจ แม่คงไปตักน้ำในลำห้วยข้างหมู่บ้าน น้ำในบ้านหมดลงตั้งแต่เมื่อคืน กระบอกสุดท้ายที่แม่เอาให้ผมล้างหน้าตาก่อนนอน
จริง ๆ ด้วย ผมเดาถูกแม่กลับมาแล้วพร้อมกับกระบอกน้ำที่ใส่น้ำเต็มจนล้นปรี่และไหลออกมาเปียกเสื้อผ้าของแม่บางส่วน ผมหวนนึกถึงคำสุภาษิตของลีซอที่บอกว่า “อะไรเอ่ย เวลาไปร้องรำทำเพลง….แต่พอกลับมาน้ำตานองหน้า”……… ซึ่งก็คือ เวลาคนแบกกระบอกไม้ไผ่ที่ไม่มีน้ำไปตักน้ำ มันจะกระทบกันเสียงดังคล้าย ๆ ตีกลอง เพราะมันเบา แต่พอเติมน้ำให้เต็มในเวลาขากลับเสียงจะเงียบและน้ำจะล้นออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ เปรียบดังน้ำตา
หลังอาหารเช้า แม่รีบหาเสื้อผ้าที่ดูดีที่สุดมาให้ผมใส่ ก็กางเกงลีซอตัวเก่งของผมนั่นแหละ สีฟ้าอ่อน ๆ บ่งบอกถึงสภาพที่ถูกใช้มานานเป็นปี เป็นตัวที่แม่ตัดให้ตอนปีใหม่ตรุษจีน เมื่อต้นปีนี้เอง เป็นตัวที่ถูกใส่บ่อยที่สุดเพราะชอบ และก็จำเป็นต้องใส่มัน ปีหนึ่งมีกางเกงสองสามตัวแค่นั้นเอง เลยต้องผลัดกันใส่อยู่นั่นแหละ ไม่ใส่ก็ไม่ได้เพราะไม่มีตัวอื่นอีกแล้ว ตัวไหนชอบก็ใส่บ่อยหน่อยเหมือนเช่นสีฟ้าตัวนี้
แม่พาผมไปที่โรงเรียนไปพบกับครูแดง แล้วบอกว่า มาส่งผมมาโรงเรียน ขอให้ครูแดงสอนหน่อยและบอกด้วยว่า ผมต้องพาน้องไปโรงเรียนด้วย ครูแดงยิ้มและเดินเข้ามาหาผม พูดซิ สวัสดีครับ ครูแดงสอนผมพูด ผมนิ่งเงียบแม่สะกิดให้ผมพูดตามครูแดง พูดคำว่า”สวัสดีครับ”พร้อมกับยกมือไหว้อย่างกล้า ๆ อาย ๆ นั่นคือคำแรกที่ผมเริ่มได้เรียนรู้ภาษาไทย
จากนั้นผมก็ไปโรงเรียนทุกวัน โดยแบกน้องไว้ด้านหลัง ตอนเข้าเรียนก็จะปล่อยให้น้องเล่นอยู่ข้างนอกกับเด็กคนอื่น ๆ หรือบางทีก็ปล่อยไว้กับพื้นใกล้ที่นั่งผมในห้องเรียน ผมเริ่มท่องอักษรไทยได้แล้ว พร้อมกับพูดภาษาไทยคำง่าย ๆ และร้องเพลงตามที่ครูแดงสอน ผมรู้สึกสนุกสนานกับการเรียนหนังสือมาก เล่นกับเพื่อน ร้องเพลงเล่นเกมส์ที่ครูแดงสอนให้
เรียนไปสักพักก็เริ่มเบื่อ บางวันไม่อยากไปโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ผลไม้ในป่ารอบ ๆ หมู่บ้านกำลังสุก มีทั้งผลไม้ที่คนกินได้ และนกชนิดต่าง ๆ กินได้ ผมชอบยิงนกมากเป็นชีวิตจิตใจ มีอาวุธคู่กายคือ หนังสติ๊ก สะพายถุงย่าม ซึ่งในย่ามนั้นเต็มไปด้วยลูกกระสุนที่ปั้นมาจากดินเหนียวเป็นลูกกลม ๆ แล้วตากแดดให้แห้ง บางทีก็ย่างไฟเพื่อให้แห้งเร็ว
ผมจะเข้าป่าหลังหมู่บ้านไปแต่เช้าทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ล้างหน้า จะกลับเข้ามาบ้านอีกทีก็ตอนที่หิวข้าวนั่นแหละ มีเพื่อนสนิทไปด้วยกันหลายคน เช่น จะอือ จะคือ แนแนหมู่ ช่วงนี้ผมจะขาดเรียนบ่อย ไม่สนใจการเรียนเลย คิดอยู่แต่เพียงว่า จะไปยิงนกที่ต้นไม้ต้นไหนดีและจะไปกับใคร เมื่อบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่กล้าไปโรงเรียนเลย กลัวครูดุ ก็กลัวตามประสาเด็ก ๆ ที่ทำผิดแล้วไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น ……. แต่ผมและเพื่อน ๆ ทำอย่างนี้ไม่นานก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือเหมือนเดิม เพราะครูแดงจะเดินเข้าไปในป่าหลังหมู่บ้าน ที่ ๆ ผมและเพื่อน ๆ ไปยิงนกกันและตะโกนเรียกให้ไปโรงเรียน ทำอย่างนี้ ทุกเช้า ๆ จนผมและเพื่อน ๆ ยอมแพ้ จำเป็นต้องไปโรงเรียนทุกวันและไม่ขาดเรียนอีกเลย
“สวัสดีครับ….สวัสดีครับคุณครู” เสียงนี้ยังกึกก้องอยู่ในหูของผมเกือบจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อผมนึกถึงเรื่องราวเมื่อผมยังเป็นเด็ก รอยยิ้มก็จะปรากฏอยู่บนใบหน้าของผมอย่างไม่รู้ตัว…… ท่านเป็นบุคคลที่ผมเคารพ ศรัทธา เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตให้ผมจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งท่านนั้นก็ คือ ครูแดง เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ครูแดงเป็นที่รักของชาวบ้านทุก ๆ คน เป็นครูคนแรกของผมและเปรียบเสมือนเป็นแม่คนที่สองของผม ที่ให้โอกาสและให้ความสว่างทางปัญญาแก่ผม…….”
จะแฮ ( สุพจน์ หลี่จา)