ช่วง พ.ศ.2511-2517 เป็นช่วงที่กิจกรรมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา บานสะพรั่ง ทั้งกิจกรรมเสริมวิชาการ จิตสำนึกทางการเมือง สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม มีชมรมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้เลือกเข้าร่วมได้อย่างหลากหลาย นักคิด นักบริหารชั้นนำ เช่น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษ์ พระภิกษุ เช่น ท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทภิกขุ สร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมสติปัญญาให้แก่คนหนุ่มคนสาว ขณะเดียวกันความฟุ้งเฟ้อของนักศึกษาในรูปงานบอลล์ การประกวดความงามก็มีมากมาย มีคำถาม “ฉันจึงมาหาความหมาย” โดยวิทยากร เชียงกูล มีบทกวีตั้งคำถามหาความหมายในชีวิตต่อสังคม ความตายของครูโกมล คีมทอง รัตนา สกุลไทย บัณฑิตหนุ่มสาวที่ออกไปเป็นครูในชนบทภาคใต้ ก่อให้เกิดกระแสการขานรับในหมู่คนหนุ่มสาวยุคใหม่ผ่านมูลนิธิ โกมล คีมทอง มีความพยายามหาทางออกจากลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม หรืออนุรักษ์สุดขอบ สู่เส้นทางประชาธิปไตยและสันติประชาธรรม จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น
นิสิตหญิงคนหนึ่งแห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาและเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้อย่างเงียบ ๆ และต่อเนื่อง มีความประทับใจในกิจกรรมค่ายชาวเขา ได้พบวิถีชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย เป็นอิสระ อยู่กับธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ห่างไกลจากอิทธิพลของสังคมเมือง เธอคิดที่จะใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนชาวเขาและชนบทซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตั้งโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตา
โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คืองานที่เธอ เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ได้เลือกหลังเรียนจบเป็นบัณฑิต ระหว่าง พ.ศ.2517-2519 ได้คิดค้นงานด้านการศึกษา การเรียนรู้วัฒนธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ร่วมกับชุมชนชาวเขาบ้านปางสา และหมู่บ้านอื่น ๆ ในลุ่มน้ำแม่จัน โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเป็นพี่เลี้ยงที่ดี รวมทั้งได้แนวคิด และสื่อการเรียนจากโครงการการศึกษา ผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ กองการศึกษาผู้ใหญ่ ภาควิชาประถมศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เธอทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างมีความสุขเสมือนเป็นลูกหลานของชาวบ้าน ซึ่งเรียกเธอว่า “ครูแดง” จนเกิดเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองครั้งสำคัญ 6 ตุลาคม 2519 บัณฑิตอาสาฯ ถูกสั่งให้หยุดงานออกจากพื้นที่
ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อาจารย์สุนทร สุนันท์ชัย คือผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่เห็นคุณค่าของงานที่ครูแดงทำด้วยใจบริสุทธิ์ ม่งมั่น จึงรับให้เข้าทำงานในโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขา ตั้งแต่ พ.ศ.2520-2522 โดยทำงานที่บ้านปางสาตามเดิม ช่วยงานพัฒนาหลักสูตรแบบเรียนและการฝึกอบรมให้กองการศึกษาผู้ใหญ่ ต่อเนื่องด้วยกาเข้าเป็นคณะเลขานุการ “โครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)” ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในปี พ.ศ.2523-2527 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอได้พบกัลยาณมิตรทั้งภาคราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักคิด ได้อ่านหนังสือและร่วมกิจกรรมหลากหลาย ข้อคิดของศ.นพ.ประเวศ วะสี ในนิตยสารหมอชาวบ้านที่เธอได้อ่านอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เข้าใจรากเหง้าของปัญหาสังคม และแนวทางแก้ไข ช่วยให้เธอมั่นใจในทางเดินของชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนมากขึ้น
ข้อจำกัดของการทำงานที่ผ่านมาทำให้ครูแดง คิดถึงการก่อตั้งองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อคนรุ่นใหม่ที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่องมีความสุข โดย ดำรงอิสรภาพทางความคิด ความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งได้กัลป์ยานมิตรคนสำคัญ คือ สุจิตรา สุดเดียวไกร (โย่ง) รองผู้อำนวยการโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส) เป็นหลักในการคิดวางรากฐานก่อตั้งองค์กรนิติบุคคลสาธารณประโยชน์ เพื่อทำงานกับชุมชนชาวเขาเขตชายแดนไทยพม่า อันเป็นแหล่งต้นน้ำแม่จัน-แม่สลอง สานต่องานที่ทำไว้สมัยงาน ศศช. ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา” (พชภ.) ได้รับความเมตตาจาก ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง รับเป็นประธานคนแรก ส่วนเงินจดทะเบียนมูลนิธิฯ คุณชูเกียรติ อุทกพันธ์ กรุณาให้ยืมจำนวน 200,000 บาท
งานแรกของมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) เริ่มด้วยโครงการสำรวจข้อมูลทางสังคมเศรษฐกิจเบื้องต้น ในพื้นที่ต้นน้ำแม่จัน-แม่สลอง ตั้งแต่ พ.ศ.2528-ต้นปี 2529 ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา (LDAP) ซึ่งมีคุณอเนก นาคะบุตร เป็นผู้ประสานงาน คณะสำรวจ ประกอบด้วย คุณธนูชัย ดีเทศน์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยผู้นำในกลุ่มปางสา ครู ศศช. กลุ่มปางสา นักวิจัยจากศูนย์วิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ร่วมกันสำรวจ โดยเลือก 10 หมู่บ้านที่พร้อมจะร่วมกันทำงาน ข้อมูลจากการสำรวจได้นำมาเขียนโครงการการศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ซึ่งเป็นโครงการระยะที่หนึ่ง 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2529-2532 ใช้ทุน LDAP เน้นงานการสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานถาวร การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและการส่งเสริมสิทธิหน้าที่ประชาชนที่ดี โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชาวเขาจังหวัดเชียงราย ให้เข้าดำเนินงานพื้นที่ได้ ซึ่งมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เข้ารับการอบรมหลักสูตร ศศช. และใช้หลักสูตร ศศช. เป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษาร่วมกับชุมชน