เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการเด็กกายดี เปิดเผยว่า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เดินหน้าโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน ชุมชนพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดเชียงราย เพื่อสุขภาวะจังหวัดเชียงราย ภายใต้ชื่อโครงการ “เด็ก กาย ดี” เป็นการดำเนินการต่อเนื่องด้านสุขภาวะเป็นปีที่ 7 ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อสร้างกิจกรรมเครือข่ายแก้ไขความเนือยนิ่ง เนื่องจากความสะดวกของสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่สะดวกสบายที่สมัยก่อนคนชาติพันธุ์ที่ยังเป็นเด็กได้เดินไปโรงเรียน
นางจุฑามาศกล่าวว่า ขณะที่ผู้ใหญ่เดินไปทำไร่ทำสวน แต่ปัจจุบันใช้รถ และการอยู่นิ่งกับมือถือ ทำให้เป็นที่มาของโรคร้ายแรงแบบไม่ติดต่อ หรือ NCDs จากการเริ่มต้นโครงการเด็กดอยกินดีที่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2559 และดำเนินโครงการในปี 2560-2562 เข้าไปส่งเสริมเรื่องอาหารในโรงเรียนเว้นอาหารกรุบกรอบน้ำอัดลมที่ไม่มีประโยชน์ การคัดสรร เมนูอาหาร 9 ชาติพันธุ์
ผู้จัดการโครงการเด็กกายดีกล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมาได้เชิญเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน มาร่วมหารือเพื่อรับฟังและระดมความเห็นวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยทุกคนมีความตระหนักรับทราบว่าเป็นสถานการณ์ปัญหาของเชียงราย มีการดำเนินโครงการด้านสุขภาวะหลายภาคส่วน เพราะฉะนั้นทุกคนที่มาประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนสถานการณ์ร่วมกันในอนาคตว่าจะร่วมอย่างไรบ้าง เช่น ในโรงเรียนจะได้จัดกิจกรรมเป็นชมรมเด็กแกนนำ ส่งเสริมสุขภาวะทางกายในโรงเรียนมากขึ้น และทำให้เห็นว่าจะมีช่องทางร่วมมือกับสาธารณสุขอย่างไรในอนาคต หรือแม้แต่ชุมชน ที่บอกว่าจะมีกระบวนการในการจัดแข่งกีฬา กีฬาพื้นบ้านกีฬาชุมชนต่าง ๆ
“การประชุมครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเห็นว่าในตัวเทศบาลนครเชียงราย ต้องการให้นครเชียงราย เป็นเมืองแห่งความสุขเพราะฉะนั้นเราก็เห็นมิติหลาย ๆ ภาคส่วนที่จะมาเชื่อมต่อกันให้มีผลกระทบให้มากที่สุด สำหรับโครงการ เด็ก กาย ดี เป็นโครงการระยะ 12 เดือน ในปี 2566 และจะมีต่อเนื่องอีก เพราะสิ่งที่คาดหวังสูงสุดอยากให้ อปท. ในพื้นที่ จังหวัดเชียงรายไปใช้ ไปบรรจุอยู่ในเทศบัญญัติเพื่อที่จะได้มีกิจกรรม มีงบประมาณ มีการส่งเสริม และปฏิบัติในทุกพื้นที่ ทั้งในสถานศึกษา การสาธารณสุข และพื้นที่ของชุมชน จะต้องมีกิจกรรมทางกายมีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยมีความท้าทายที่จะดำเนินการต่อไป”นางจุฑามาศ กล่าว
ด้านนายปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล ประธานแขนงวิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ในฐานะผู้ประเมินโครงการ กล่าวว่า จากการหารือมองว่าการปฏิบัติงาน แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้ว แต่เป็นงานรับจากนโยบายชาติสู่นโยบายท้องถิ่น ชุมชน ทำให้เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการประสานงานในเชิงกลยุทธ์ ทำให้คิดว่าทำอย่างไรให้กิจกรรมมีมูลค่าเพิ่ม เมื่อทำออกมาแล้วชาวบ้าน เจ้าของโครงการผู้ดำเนินงาน หน่วยงานจะรู้สึกว่าภาคภูมิใจว่าโครงการที่ทำในมีคุณค่า ดังนั้นจึงคิดว่าระดับจังหวัดน่าเข้ามามีส่วนร่วม การออกใบรับรอง หรือการจัดสรร การประกวดการแข่งขัน เมื่อสิ้นสุดโครงการ 1 ปี ควรมีการประกาศรับรองโครงการ ไม่เป็นเพียงแค่การรายงานผลการดำเนินการ ทำให้เป็นเพียงการสำเร็จในผู้ทำงาน แต่ไม่สำเร็จในภาคสังคมในระดับจังหวัดที่กว้างขึ้น ที่จะทำให้รับรู้ในสังคมทำให้เกิดความภูมิใจและมูลค่าของโครงการ
นายปรัชญาณินทร์กล่าวว่า สำหรับการประชุมครั้งแรกนี้มีตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเข้ามาร่วมประชุมเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องการเห็นสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงได้มีส่วนร่วม เพราะสามารถกำกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เอื้ออำนาจเชิงนโยบาย และสนับสนุนและทิศทางการดำเนินงาน ส่วนการดำเนินงานของมูลนิธิและเครือข่ายเดินแผนงานไป และการประเมินภายหลังโครงการทำให้เห็นความสำเร็จได้ ในนามโครงการ เด็ก กาย ดี เช่นการประเมินโครงการโรงเรียน เด็ก กาย ดี ไม่เป็นเพียงความสำเร็จเพียงคนทำงานและพื้นที่เป้าหมาย แต่ระดับคนที่จะยกภาพลักษณ์ของจังหวัด
ประธานแขนงวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มร.ชร.กล่าวว่า การทำงานขององค์กรเอกชนอิสระ เช่น ทีมโครงการ เด็ก กาย ดี จาก พชภ. ที่ทำงานต่อเนื่องด้านสุขภาวะอย่างยั่งยืน 7 ปี จึงควรจะยกระดับมูลค่าของโครงการ โดยตัวชี้วัดคือชุมชนเข้มแข็งและสุขภาพคนชุมชน ที่ตรวจสอบได้จากดัชนีชี้วัดสุขภาพของ รพ.สต. เช่น มวลร่างกาย หรือการตรวจโลหะหนัก จากที่โครงการเด็กดอยกินดีได้นำโครงการนี้เข้าไปในชุมชน ทำให้มีการตรวจเลือด จึงทำให้พบว่ามีโลหะหนักในเลือดมาก ณ ปีนั้นเป็นค่าอ้างอิง และมาตรวจต่อเนื่องว่าลดหรือเพิ่มอย่างไร นโยบายทางสังคมยังต้องมีการใช้ดัชนีด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจสอบด้วย ซึ่งใช้เวลาหลายปีถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีการทำวิจัยเก็บข้อมูลเชิงสถิติเป็นฐานเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายที่เห็นได้ชัดด้านสุขภาวะ