เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่โรงแรม เอ็ม บูทิค อ.เมือง จ. เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดประชุมนำเสนอผลงานโครงการกิจการทางกายของคนชาติติพันธุ์ 10 กลุ่มจากอดีตสู่ปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต ภายใต้โครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กเยาวชนชุมชนพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดเชียงรายเพื่อสุขภาพภาวะ จังหวัดเชียงราย โดยมีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ และเครือข่าย ประกอบด้วยครูจากโรงเรียนต่างๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย อสม. ผู้นำชุมชน จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม และร่วมแสดงกิจกรรมทางกายตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เช่น การฟ้อนเจิงของไทลื้อ การรำนกกิงกะหร่าของไทใหญ่การรำพัดของจีนยูนนนาน การเต้นของชาวลีซู เป็นต้น
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดทำโครงการเด็กดอยกายดี กล่าวว่า กิจกรรมการแสดง ที่นำเสนอถือเป็นสาระสำคัญและหัวใจของกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน หลังจากเราได้ทำกิจกรรมเด็กดอยกินดี โครงการเพื่อให้เด็กดอยได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ผ่านไป 4 ปี ในปีที่ 5 จึงได้เริ่มโครงการ “เด็กดอยกายดี” โครงการต่อเนื่องกันในเรื่องสุขภาวะ เป็นการพัฒนากิจกรรมอัตลักษณ์ การเต้น การฟ้อน การรำ อันเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายของชาติพันธ์ที่หลากหลาย จึงเป็นหัวใจในเรื่องการส่งเสริมกิจกรรม “กายดี” ส่งต่อให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย และคงอัตลักษณ์ของชาติพันธ์ได้ให้อยู่ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมชุมชน และไปจึงถึงการพัฒนาเป็นอาชีพ
ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการได้เข้าร่วมประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ครั้งที่ 1 : ภายใต้หัวข้อ “บูรณาการองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางกาย” จะต้องประกอบด้วยการ Active ทั้ง 3 ส่วน คือ Active people , Active Environment และ Active Society การเตือนตัวเองให้มีการออกกำลังกาย มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน ระบบสาธารณสุขส่งเสริม แต่ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม อากาศเป็นพิษจากหมอกควันอาจต้องปรับตัวเป็นกิจกรรมในอาคารแทน
ทั้งนี้โครงการได้ทำงานในพื้นที่ อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน และอำเภอเมือง และยินดีจะร่วมงานและร่วมมือกับทุกโรงเรียน ทางโครงการทำทั้งชายแดนไทย-ลาว และชายแดนไทย – พม่า เป็นการทำงานร่วมกับ สถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โรงพยาบาล รพสต. ชุมชน และมีโครงการจะขยายไปกับ พัฒนาชุมชนและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดเชียงราย (พมจ.เชียงราย) และ อาสาสมัครพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เป็นการทำงานภายใต้กลไกบูรณาการร่วมกันทั้งหมดในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและวัฒนธรรมของคนชาติพันธุ์ และคนพื้นเมือง
“เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ กิจกรรมเคลื่อนไหวทางกาย บูรณาการกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ให้พัฒนาไปอยู่ในอาชีพ ในชีวิตประจำวัน”เป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น” นางจุฑามาสกล่าว
น.ส.ปิยวรรณ แก้วศรี กระบวนกร กล่าวว่า ภายใต้โครงการเด็กดอยกายดี ได้เก็บข้อมูลและจัดหาหนังสือ 2 เล่ม คือ “เรื่องราวกิจกรรมทางกายของคน 10 ชาติพันธุ์ จากอดีต สู่ปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต” และ “กิจกรรมทางกาย สไตล์ใคร (สไตล์มัน) ที่ได้เก็บข้อมูลจากคนชาติพันธุ์ กลุ่ม อ.ส.ม. ผู้นำชุมชน นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา สาธารณสุขอำเภอ และจังหวัด พูดคุยแลกเปลี่ยน สมาคมกีฬาจังหวัดเชียงราย เพื่อรวบรวมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายอันเป็นอัตลักษณ์ ของคน 10 ชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาย ไทย-พม่า ให้ได้เห็นการเคลื่อนไหวทางกายที่ลดลง ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การทำงานบ้าน และกิจกรรมนอกเวลา
“เมื่อสอบถามอาชีพที่เยาวชนใฝ่ฝัน พบว่าเยาวชนบนดอย ต้องการจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อาชีพในฝัน YouTuber ทำคอนเท้นท์ หลายคนมีช่อง YouTube แล้ว ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เริ่มเป็น Gamer และต้องการพัฒนาเป็น Steamer เปิดขายไอเทมเกม ด้วยความนิยมของ อีสปอร์ต กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ที่คนรุ่นใหม่นิยม ไม่เว้นเยาวชนคนรุ่นใหม่บนดอย ความต้องการเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวน้อย และเนือยนิ่ง” น.ส.ปิยวรรณ กล่าว
กระบวนกร กล่าวว่า ภายใต้แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยใหม่ ๆ ในอนาคตจึงควรช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายของคนทุกเพศทุกวัย ในการรณรงค์สร้างการรับรู้กิจกรรมทางกาย การสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจัดว่ามีการส่งเสริมกิจกรรมโดยเฉพาะการวิ่ง ที่มีกว่า 41 ครั้ง และมีสัดส่วนการใช้งบประมาณสร้างกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับสูง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการออกกำลังกาย การวิ่งการปั่นจักรยาน ดังนั้นทางมูลนิธิและผู้จัดการโครงการเห็นว่าหากนำอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มาพัฒนาร่วมในการส่งกิจกรรมทางกายน่าเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ที่จะคงวัฒนธรรมและพัฒนากิจกรรมทางกายไปตามยุคสมัย